หมวดหมู่: มติ ครม.

GOVนโยบาย


โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

 

       คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ วงเงินรวมทั้งสิ้น 21,495.74 ล้านบาท โดยให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณหารือในรายละเอียดเรื่องอัตราค่าชดเชยและค่าบริหารจัดการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

 

สาระสำคัญ

      กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 เพื่อจัดทำรายละเอียดโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

       1. ชนิดข้าวและพื้นที่ดำเนินการ ประกันรายได้ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ

      2. ราคาและปริมาณประกันรายได้ กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตัน ในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว ราคาประกันรายได้ (บาท/ตัน) / ครัวเรือนละไม่เกิน (ตัน)

ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 / 14

ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 / 16

ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 / 30

ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 / 25

ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 / 16

 

    กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิดและเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด

               3. ข้าวอายุสั้น (คุณภาพต่ำ) ที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ จำนวน 18 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ 75 พันธุ์ซี – 75 พันธุ์ราชินี พันธุ์พวงทอง พันธุ์พวงเงิน พันธุ์พวงเงินพวงทอง พันธุ์พวงแก้ว พันธุ์ขาวปทุม พันธุ์สามพราน 1 พันธุ์ 039 (อีกชื่อหนึ่งว่าพันธุ์เจ้าพระยา และพันธุ์ PSLC02001 – 240) พันธุ์โพธิ์ทอง พันธุ์ขาวคลองหลวง พันธุ์มาเลเซีย พันธุ์เตี้ยมาเล พันธุ์ขาวมาเล พันธุ์มาเลแดง พันธุ์เบตง และพันธุ์อีเล็ป รวมทั้งสายพันธุ์อื่นซึ่งพบว่ามีคุณลักษณะเช่นเดียวกับข้าวอายุสั้นที่ระบุนี้

               4. เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

               5. การคำนวณปริมาณผลผลิตของเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิในการชดเชย ให้ใช้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวกำหนด

               6. การกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง รายละเอียด วิธีการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงและระยะเวลาที่จะใช้สิทธิขอชดเชยระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการ ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นผู้พิจารณากำหนดรายละเอียดการดำเนินการนำเสนอ นบข. ต่อไป

               7. การทำสัญญาและชดเชยส่วนต่าง

               1) เกษตรกรต้องจัดทำสัญญาประกันราคากับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ภูมิลำเนา (ตามทะเบียนบ้าน) ของเกษตรกร สำหรับเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวคนละจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาและมีความจำเป็นไม่สามารถเดินทางไปทำสัญญาประกันราคาที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาได้ อนุโลมให้เกษตรกรทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่เพาะปลูกได้ตามความจำเป็นเป็นราย ๆ ไป

               2) ธ.ก.ส. ชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

       ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 สิงหาคม 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!