หมวดหมู่: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ

SCB CIO logo


โอกาสลงทุน 5G & IoT กับการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญ

โดย   ศรชัย สุเนต์ตา - กรรมการผู้จัดการ สายงาน Chief Investment Office
         บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
         ภาณุวัฒน์ อิงคะสุวณิชย์ - ผู้จัดการ สายงาน Chief Investment Office
         บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด

 

          ปัจจุบันเทคโนโลยี 5G ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากการที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และค่ายมือถือได้มีการประมูลคลื่นความถี่ 700/1800/2600MHz และ 26 GHz กันในปี 2020 นี้ ซึ่งเป็นย่านความถี่ครบทั้งช่วง Low-Mid-High ที่เรียกกันว่าเป็นการประมูล Multi band

          เราจะเริ่มเห็นโทรศัพท์รุ่นเรือธง (Flagship) ของค่ายต่างๆ ก็เริ่มออกรุ่นที่รองรับ 5G มาแล้ว ได้แก่ Samsung Galaxy S10 5G, Xiaomi Mi9 Pro 5G และ Huawei Mate 30 5G เป็นต้น และส่วนสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การที่ International Telecommunication Union (ITU) ใกล้ที่จะประกาศร่างมาตรฐานของเทคโนโลยี 5G หรือที่เรียกว่า IMT-2020 Standardในช่วงปี 2020 นี้ โดยคุณสมบัติหลักของ 5G ที่ ITU วางแผนไว้มีอยู่ทั้งหมด 3 ประการ ประกอบไปด้วย

          (1) ความเร็วของการเชื่อมต่อแบบไร้สายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราความเร็วของการใช้งานที่สูงกว่าเทคโนโลยี 4G มากกว่า 10 เท่า ตัวอย่างเช่น หากเราดาวน์โหลดภาพยนตร์ที่มีความยาว 2 ชั่วโมงด้วยอินเทอร์เน็ต 4G ที่ระดับความเร็ว 1 Gbps จะต้องใช้เวลาทั้งสิ้น 6 นาที ในขณะที่หากใช้อินเทอร์เน็ต 5G ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้มีระดับความเร็วที่ 20 Gbps ระยะเวลาดังกล่าวจะลดลงเหลือเพียง 3.6 วินาทีเท่านั้น
          (2) ความล่าช้าในการรับส่งข้อมูลที่ลดลงกว่า 10 เท่า รวมถึงความน่าเชื่อถือของการรับส่งสัญญาณที่เสถียรขึ้น ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสของการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ โดยสมมติให้รถยนต์ไร้คนขับวิ่งด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหากมีการส่งสัญญาณหยุดรถผ่านโครงข่าย 4G ที่มีความหน่วงสูงกว่า จะส่งผลให้รถยนต์คันดังกล่าวยังคงเคลื่อนที่ต่อไปอีก 1.4 เมตร ในขณะที่ความหน่วงที่ระดับน้อยกว่า 1 มิลลิวินาทีของ 5G จะทำให้รถยนต์เคลื่อนที่ต่อไปอีกเพียง 2.8 เซนติเมตรเท่านั้น
          (3) ความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สายจำนวนมากโดยใช้พลังงานต่ำ ซึ่ง 5G จะทำให้ความหนาแน่นของการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สายเพิ่มสูงขึ้นจากราว 4,000 ชิ้นต่อตารางกิโลเมตร เป็นราว 1 ล้านชิ้นต่อตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ ยังคาดว่าอุปกรณ์เชื่อมต่อนั้นจะใช้พลังงานลดลงถึง 90% ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวจะเอื้อให้เกิดการใช้งานของอุปกรณ์ IoT (Internet of things) ในวงกว้างทั้งในภาคครัวเรือนและธุรกิจ

2319 SCB

          คุณสมบัติของ 5G ที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้งานของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างหลากหลาย ตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของ ITU เช่น รถยนต์ไร้คนขับที่ต้องการความเสถียรของการส่งผ่านสัญญาณแบบไร้สาย การใช้ทางการแพทย์ ที่ต้องการทั้งความเสถียรของคลื่นสัญญาณ รวมถึงความเร็วในการส่งสัญญาณที่สูง และการใช้งานของอุปกรณ์ IoT (Internet of things) ที่คาดว่าเทคโนโลยี 5G จะเป็นตัวจุดประกายสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วย

          GSM Association (GSMA) คาดการณ์ว่าจะมีการใช้งานอุปกรณ์ IoT ในปี 2025 ราว 25.2 พันล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้นราว 16.1 พันล้านชิ้นจากปี 2018 ซึ่งการเพิ่มขึ้นนั้นแบ่งเป็นการใช้งานในภาคครัวเรือนประมาณ 6 พันล้านชิ้น และภาคอุตสาหกรรมอีกประมาณ 10.1 พันล้านชิ้น โดยส่วนมากจะเป็นอุปกรณ์ IoT ในกลุ่มของ Smart buildings และ Smart home

          นอกจากนี้ ค่ายมือถือในเกาหลีใต้เริ่มเปิดตัวบริการ 5G ตั้งแต่เมษายน 2019 ซึ่งมีผู้ใช้บริการราว 4 ล้านเลขหมายในปัจจุบัน ในขณะที่ค่ายมือถือในจีนเปิดตัวบริการ 5G เมื่อ 31 ตุลาคม 2019 ขณะที่ค่ายมือถือในญี่ปุ่นนั้นคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวบริการ 5G ในช่วงต้นถึงกลางปี 2020 โดยในปัจจุบันกลยุทธ์หลักจะเน้นไปที่การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อโอกาสในการสร้างรายได้จากบริการใหม่ๆ นอกจากนี้ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพ Tokyo 2020 Olympics เพื่อทำการทดสอบการใช้งาน 5G ด้วย

          GSMA มีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี 5G นั้นมีโอกาสสร้างเม็ดเงินกว่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกภายในระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและธุรกิจจำเป็นต้องลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเพิ่มเติม ซึ่งการลงทุน 5G ในช่วงปี 2019-2023 จะเป็นการลงทุนในส่วนของสถานีฐานเป็นหลัก ในขณะที่ในช่วงปี 2021-2025 จะเป็นการลงทุนในระบบเครือข่ายเป็นหลัก

          ทั้งนี้สำหรับมุมมองการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 5G นั้น ทาง SCB Chief Investment Office (SCB CIO) มองว่ากลุ่มธุรกิจแต่ละด้านมีโอกาสและอุปสรรคในการลงทุน ดังนี้

          (1) ธุรกิจกลุ่ม Semiconductors และ Electronics เรามีมุมมองบวก (Positive) ต่อกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เนื่องจาก ในช่วงแรก ผู้ให้บริการจำเป็นต้องลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก อีกทั้งการที่ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนอุปกรณ์มือถือเพื่อรองรับ 5G จะส่งผลให้ธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่ดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เช่น SK Hynix, Taiwan semiconductors หรือ Qualcomm เป็นต้น
          (2) ธุรกิจกลุ่มอุปกรณ์โทรคมนาคม (Telecommunications equipment) เรามีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) สำหรับผู้ผลิตและเจ้าของสิทธิบัตรในการผลิตอุปกรณ์สำหรับควบคุมและกระจายสัญญาณ อย่าง Huawei, Ericsson, Cisco, Nokia หรือ ZTE ถึงแม้บริษัทเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจถูกกีดกันจากประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลในแต่ละประเทศ
          (3) ธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม (Telecommunications service provider) เรามีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) ต่อธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม โดยแม้จะเป็นกลุ่มที่คู่แข่งรายใหม่เข้ามาได้ยาก แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและต้องลงทุนเงินเป็นจำนวนมากในการซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคม มีการปรับปรุงซ่อมบำรุงอุปกรณ์เดิมและมีรายจ่ายค่าใบอนุญาต ธุรกิจดังกล่าวจำเป็นต้องหาช่องทางการสร้างรายได้จากแหล่งอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะการหันมาเน้นการให้บริการโซลูชั่นสำหรับภาคธุรกิจมากขึ้น
          (4) กลุ่มผู้ผลิต Smartphone หรืออุปกรณ์ IoT เรามีมุมมองเชิงบวก (Positive) ต่อผู้ผลิตสินค้าที่มี Ecosystem ที่แข็งแกร่ง เนื่องจาก การเกิดขึ้นของ 5G จะช่วยให้เกิดการใช้งาน IoT ที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของ Smart home และ Smart devices โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่มักเป็นผู้ผลิตทั้ง Software และ Hardware ของตนเอง เช่น Xiaomi, Google, Apple หรือ สินค้าเฉพาะทางด้านสุขภาพอย่าง Garmin
          สุดท้ายนี้ แม้ผู้บริโภคอาจจะยังไม่ได้ใช้งานเทคโนโลยี 5G มากนักในช่วงแรก เพราะกว่าที่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเจ้าใหญ่อย่าง Apple, Samsung หรือ Huawei จะผลิตมือถือที่รองรับ 5G ในคลื่นความถี่ที่รองรับในแต่ละประเทศ และกว่าที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนมือถือปัจจุบันให้เป็นรุ่นที่รองรับ 5G นั้นจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีระยะเวลา 3-4 ปี แต่อย่างไรก็ดีจุดเริ่มต้นของทศวรรษ 5G และ IoT ก็ได้สร้างโอกาสให้กับทั้งภาคธุรกิจ และสร้างโอกาสให้กับการลงทุนด้วยเช่นกัน

 


AO2319

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!