หมวดหมู่: ท่องเที่ยว

9564 อพท


‘อพท.’ เปิดเส้นทางเที่ยวแหล่งอู่ข้าว อู่น้ำ การค้าเมืองเก่าสุโขทัย
ชู ‘นาเชิงคีรี-ทุ่งหลวง’ ชุมชนโบราณตำนานพระร่วง-ปั้นงานศิลป์

          อพท. ชูแหล่งท่องเที่ยวเมืองเก่าสุโขทัย “นาเชิงคีรี” และ “ทุ่งหลวง” อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย หนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน ศูนย์กลางการค้าโบราณตำนานพระร่วง สืบสานวิถีชุมชน แหล่งศิลปะงานปั้นช่างศิลป์ไทย ร่วมกิจกรรมงานประดิษฐ์ ว่าวใบไม้ สัการะพระร่วง หยอดตาลตโนด กระตุ้นสายเที่ยวอิงประวัติศาสตร์ การันตีโดยยูเนสโก ต่อยอดขยายผลสร้างนักพัฒนาการท่องเที่ยว ผนึกเครือข่าย กิจกรรมท่องเที่ยว มุ่งเป้าสร้างรายได้เพิ่มสู่ชุมชน

          ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. มีเป้าหมายในการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก และตาก โดยจัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงอารยธรรมสุโขทัย ที่เป็นเมืองมรดกโลก ตามกรอบการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเข้าไปพัฒนาชุมชนที่มีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยว เข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ GSTC และเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ CBT Thailand ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จนประสบความสำเร็จ นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างเส้นทาง และกิจกรรมการท่องเที่ยวที่จัดขึ้นโดยชุมชนอย่างแท้จริง และยังได้รับการขึ้นทะเบียนจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศผลการคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) ประจำปี 2562

          “อพท.ได้วางแผนการพัฒนาเส้นทางอาณาจักรสุโขทัยเข้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนในอำเภอต่างๆ ทั้งจังหวัด ให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการท่องเที่ยว โดยใช้ทรัพยากรทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เป็นจุดดึงดูดที่สำคัญเพราะแต่ละชุมชนล้วนแล้วมีจุดเด่นในแต่ละด้าน ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้ จ.สุโขทัยนับเป็นจุดหมายปลายทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ” ดร.ชูวิทย์กล่าว

 

         ปั้นนักพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามมาตรฐาน CBT Thailand
         นายประครอง สายจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 (อพท.4) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการรวมตัวของชุมชนเป็น สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.สุโขทัย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สมาคมที่มีการจัดตั้งขึ้น นอกเหนือใน จ.กระบี่ และจ.เชียงใหม่ ที่มีเป้าหมายทำงานร่วมกับอพท. ในการเข้าไปส่งเสริมให้เกิด “นักพัฒนาการท่องเที่ยว” เพื่อนำชุมชนเข้าสู่แผนการท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนที่มีศักยภาพ ด้านการท่องเที่ยวแหล่งอื่นๆ ภายในจังหวัด ให้เป็นไปตามมาตรฐาน CBT Thailand เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยว ให้มีความเข้มแข็ง และพร้อมให้บริการมากยิ่งขึ้น

          สำหรับการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย ของชุมชนนาเชิงคีรี และ ชุมชนทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นในเรื่องการเป็นแหล่งอู่ข้าว อู่น้ำโบราณ ตั้งแต่สมัยก่อนก่อร่างสร้างเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี กว่า 700 ปีก่อน โดย 2 ชุมชนนี้ ได้รับการพัฒนามาตลอดระยะเวลา 3 ปี โดย อบต.นาเชิงคีรีได้จัดตั้ง ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลนาเชิงคีรี และ เทศบาลตำบลทุ่งหลวงได้จัดตั้งเป็น ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนทุ่งหลวง ซึ่งทั้งสองชุมชนได้พัฒนาและบริหารจัดการท่องเที่ยวในตำบลของตนเอง โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือของชุมชน ที่สามารถนำเอาทุนทางวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อที่เป็นจิตวิญญาณและความศรัทธา ที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ในศิลาจารึกของ องค์สมเด็จพระร่วงเจ้า และพ่อขุนรามคำแหง ผ่านเรื่องเล่าและตำนานจากนักสื่อความหมายที่เป็นคนรุ่นเก่าผสมผสานกับการบริหารเส้นทางการท่องเที่ยวโดยคนรุ่นใหม่ ทำตลาดผ่านช่องทางโซเซียลเน็ตเวิร์ค มาสู่การสร้างสรรค์กิจกรรมให้บริการกับนักท่องเที่ยว รวมถึงการนำเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นมารังสรรค์เป็น หัตถกรรม และอาหารประจำถิ่น โดยมีเขาหลวงเป็นแกนกลางของชุมชน

          สำหรับจุดขายชุมชนนาเชิงคีรี นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรม กับสถานที่ท่องเที่ยวอิงตำนานพระร่วง และบันทึกทางประวัติศาสตร์ เริ่มจากสักการะบูชา วัดเชิงคีรี มีหลวงพ่อโตพระคู่ชุมชนสร้างในสมัยสุโขทัย ที่มีตำนานเล่าขานอัญเชิญหลวงพ่อจากวัดทะเลใส่เกวียนมาตามทาง แต่เกวียนเกิดหักไม่สามารถอัญเชิญไปวัดที่จะไปประดิษฐานได้ ชาวบ้านร่วมกันสร้างวิหารและประดิษฐานจนถึงทุกวันนี้

          ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลโตนดของภาคเหนือตอนล่าง ที่สามารถชมกรรมวิธีเคี่ยวน้ำตาล ร่วมหยอดน้ำตาลปึก ที่ปัจจุบันส่งขายไปยังพื้นที่ต่างๆ ใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารคาว-หวาน ทั้งเครื่องดื่มน้ำตาลสด งบตาล ยำกรวยตาล แกงหัวตาล เป็นต้น และเพลิดเพลิน ชมวิวธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ (น้ำตกลำเกลียว) เป็นอ่างเก็บน้ำจากน้ำตกลำเกลียว ซึ่งเป็นน้ำตก ที่มีประวัติความเป็นมาในสมัยอดีต ที่มีตำนานเล่าว่า เป็นที่ประทับและจำศีลภาวนาของพระแม่ย่า ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแหง เป็นน้ำตกขนาดกลางที่มีน้ำไหลตลอดปี

          นอกจากนี้ยังสามารถร่วมกิจกรรม DIY ประดิษฐ์ว่าวใบไม้บูชาพระร่วง (ว่าวพระร่วง) ซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาของชุมชนว่าเป็นการสักการะ หรือบูชาพระร่วง เพื่อขอความอุดมสมบรูณ์ในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ด้วยตำนานในอดีตที่พระร่วงทรงโปรดการเล่นว่าวที่วาจาศักดิ์สิทธิ์ขอสิ่งใดมักสมปรารถนา เดินทางสัมผัสธรรมชาติ อุทยานรามคำแหง สักการะพระแม่ย่า (ถ้ำพระแม่ย่า ม.9) เพื่อความเป็นสิริมงคล ตามความเชื่อของชุมชนที่เล่าขานและสันนิษฐานกันว่า แม่ย่า ทรงเป็นพระนางเสือง หรือ เป็นพระมารดาของพ่อขุนรามคำแหง เป็นศูนย์กลางการก่อร่างสร้างเมืองหรือตามความเชื่อในอดีตคือเป็นพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง แห่งเทือกเขาหลวง ที่สันนิษฐานว่าที่เป็นประสูติของพระร่วง

          ปิดท้ายที่ชุมชนนาเชิงคีรี ด้วยของที่ระลึกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นข้าวมีคุณสมบัติพิเศษในการรักษาโรค เพราะใช้น้ำธรรมชาติจากเขาหลวง ที่ชาวบ้านถือเป็นแหล่งเก็บเครื่องปรุงยา จากพืชนานาชนิดที่มีสรรพคุณรักษาโรคต่างๆในอดีต จึงขนานนามเขาหลวงอีกนามหนึ่ง ว่า เขาสรรพยา

          ชุมชนทุ่งหลวง ขึ้นชื่องานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งเมืองสุโขทัย ร่วมกิจกรรมขึ้นรูปภาชนะ ประดิษฐ์ศิลปะจากดิน สู่เครื่องปั้นดินเผา ที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งขายทั่วประเทศ จากฝีมือชุมชนกว่า 200 หลังคาเรือน โดยใช้ดินคุณภาพสูงจากแหล่งที่ราบเขาหลวงในท้องถิ่นที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน ด้วยกรรมวิธีการเผาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ มีความแตกต่างจากแหล่งเครื่องปั้นศรีสัชนาลัย ที่ใช้เตาทุเรียง ในขณะที่บ้านทุ่งหลวง ใช้เตามังกร เพื่อให้ภาชนะมีความแกร่งมากยิ่งขึ้นด้วย

          กิจกรรมของชุมชนแห่งนี้แสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่เคยเป็นศูนย์การค้าสำเภาของชาวจีนล่องนำสินค้ามาขาย ปัจจุบันยังคงหลงเหลืออาคาร ไม้โบราณที่ลูกหลานตระกูลชาวจีนสืบทอดกัน พร้อมบูชา สักการะหลวงปู่ต่วนเกจิดัง ชมพิพิธภัณฑ์ของเก่า หออัตลักษณ์ วัดลาย แวะสักการะ พระหลวงพ่อศิลา วัดกลาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และขอพรพระหลวงพ่อโต วัดบึง ซึ่งเป็นพระสองพี่น้องที่วัดนาเชิงคีรี ก่อนมุ่งหน้าสู่ วิทยาใต้ถุนบ้าน ชมงานสาธิต ศิลปะงานปั้น ทั้ง บ้านป้าบู่ที่ใช้ศาสตร์ขึ้นรูปอิสระ เครื่องปั้นดินเผา บ้านยายโถม ด้วยงานปั้นขึ้นรูปแบบโบราณ บ้านจันแรม ชำนาญปั้นหม้อดิน แกะลาย ปิดท้ายก่อนเดินทางกลับ นักท่องเที่ยวสามารถนำงานที่ร่วมกิจกรรมขึ้นรูปกลับไปเป็นของทีระลึก หรือซื้อเป็นของฝากได้อีกด้วย

 

          อพท.ร่วมพัฒนาเส้นทางตำนานพระร่วง
          นายกิติศักดิ์ สอนทุ่ง ผู้ช่วยฝ่ายแผนและงานกิจกรรม ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลนาเชิงคีรี และนักพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน นาเชิงคีรี กล่าวว่า ปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้ได้รับความใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวในหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มศึกษาดูงาน และกลุ่มท่องเที่ยววิถีชุมชน เนื่องจากพื้นที่ นาเชิงคีรี เป็นพื้นที่ที่เริ่มมีการพัฒนา เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก อพท.เข้ามาร่วมพัฒนา การบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อกำหนดเส้นทางท่องเที่ยว โดยอาศัยเส้นทางถนนพระร่วง และเขาหลวงเป็นแกนกลางการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่มีการนำรถท่องถิ่น(รถคอกหมู) ให้บริการ เหมาจ่ายสำหรับ 15-20 คน ในราคา 400 บาทต่อเส้นทางกิจกรรม ที่นักท่องเที่ยวเลือกทำกิจกรรมได้ตามความต้องการ เช่นกิจกรรม DIY ทดลองหยอดน้ำตาลปึก 100 บาท ต่อ 1 คน สามารถนำน้ำตาลปึกเป็นของฝากของที่ระลึก DIYทำกิจกรรม ทำว่าวใบไม้ 100 บาทต่อ 1 คน
         “ชุมชนแห่งนี้มีจุดเด่นที่เป็นแหล่งเพาะปลูกตาล ซึ่งมีการนำผลผลิตมาเป็นน้ำตาลตโนด มาตั้งแต่โบราณเพื่อส่งเป็นบรรณาการให้กับเมืองสุโขทัย ตามหลักฐานที่ค้นพบในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง จึงได้นำวิถีที่ชุมชนยังคงรักษาไว้ มาพัฒนาเป็นกิจกรรม และเส้นทางท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงเรื่องราวของความเชื่อ และความศรัทธาที่เกิดขึ้นของชุมชน ในเรื่องของพระร่วง โดยเฉพาะ กิจกรรมประดิษฐ์ว่าวใบไม้บูชาพระร่วง ที่นำใบไม้จากภูเขาหลวง เช่น ใบแซงแซว ใบป่อแป่ ใบทอง และใบตองตรึง มาประดิษฐเป็นว่าว เพื่อสักการะพระร่วง แสดงถึงความอุดมสมบรูณ์และเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพทางการเกษตร และความศรัทธาในแม่ย่า ที่เป็นรูปปั้นจำลอง ประดิษฐานอยู่ในถ้ำเพลิงหิน บนเขาหลวง ซึ่ง ส่วนองค์จริงประดิษฐานอยู่ที่ศาลหลักเมือง” นายกิติศักดิ์ กล่าว

          นายวันชัย โฆรัษเฐียร รองนายกเทศมนตรีตำบลทุ่งหลวง (ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง) กล่าวว่า ชุมชนทุ่งหลวง จัดเป็นชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนแบบบูรณาจากหลายหน่วยงาน มีเป้าหมายการพัฒนาเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา เปิดให้นักท่องเที่ยว และกลุ่มศึกษาดูงานเข้าชม มีการพัฒนามาต่อเนื่อง 5-6 ปีที่ผ่านมา เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแดง ที่มีส่งขายไปยังทั่วประเทศ สามารถนำมาเป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมสัมผัสกับงานฝีมือเครื่องปั้นดินเผา รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางการค้าโบราณในอดีต ที่มีชุมชนชาวจีนตั้งรกรากทำการค้ามาจนถึงปัจจุบัน ยังมีหลักฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน


A9564

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!