หมวดหมู่: บทวิเคราะห์
Asia Plus Group Holding
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน    
วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562
ราคาน้ามันที่ดีดตัวกลับขึ้นมาอีกครั้ง ประกอบกับโอกาสที่จะเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีมากขึ้น น่าจะส่งผลทำให้ SET Index มีโอกาสฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในวันนี้ไม้มีการปรับเปลี่ยน โดยให้คงพอร์ตการลงทุนไว้ตามเดิม ส่วน หุ้น Top Picks วันนี้เลือก PLANB (FV@B 10.40) ซึ่งยังเห็นสัญญาณการเติบโตของผลประกอบการต่อเนื่อง และ CK(FV@B 34) น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล
          SET Index    1,640.66
        เปลี่ยนแปลง (จุด)    -13.48
        มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท)    57,286
            
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงเช้า
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงเช้า จากการ Sell on Fact เรื่องของ Fed ที่ลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ของปีมาอยู่ที่ 2.0% (ตามที่ตลาดฯคาด) จึงไม่มีปัจจัยกระตุ้นตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม ทำให้สุดท้ายปิดที่ระดับ 1640.66 จุด ลดลง 13.48 จุด (-0.81%) มูลค่าการซื้อขาย 5.72 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานที่ปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงต่อเนื่องได้แก่ PTT(-1.09%) PTTEP(-0.40%) GULF(-1.60%) GPSC(-3.13%) กลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(-2.18%) INTUCH(-1.48%) DTAC(-2.92%) TRUE(-2.68%) และกลุ่มอาหารอย่างเช่น CPF(-1.87%) TU(-1.24%) MINT(-4.61%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ได้แก่ SCC(-0.96%) และ PTTGC(-1.86%) เป็นต้น
ผลการประชุมธนาคารกลางหลายประเทศ ส่งสัญญาณในทิศทางที่สอดคล้องกัน กล่าวคือยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือมากไปกว่านั้นคือการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านกลไกต่างๆ สำหรับในส่วนของประเทศไทย จะมีการประชุม กนง. ในวันที่ 25 ก.ย.2562 ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินว่าภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรมแม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นมาหลายชุดผ่านกลไกเศรษฐกิจต่างๆ ขณะที่เงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่บริเวณ 30.50 บาท/USD เป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก ฝ่ายวิจัยจึงเห็นว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่อาจเห็น กนง. มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในสัปดาห์หน้า แต่อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า หลังจากการปรับลดลงในรอบหนี้แล้ว โอกาสที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยจะเริ่มน้อยลง เนื่องจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กับอัตราเงินเฟ้อจะแคบลงอย่างมาก และอีกประการหนึ่ง เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปอยู่ที่ 1.25% แล้ว ก็จะเป็นระดับที่เท่ากับจุดต่ำสุดเดิมในช่วงที่เรากำลังแก้วิกฤติต้มยำกุ้ง จากการประเมินภาพทิศทางอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้ฝ่ายวิจัยเห็นว่าหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เริ่มมีความสนใจมากขึ้น โดยอย่างน้อยเชื่อว่าอยู่ในภาวะที่ Downside จำกัด และความน่าสนใจจะมากขึ้นหลังจากที่ผ่านช่วงของการปรับลดดอกเบี้ย และการประกาศผลประกอบการ 3Q62 ไปแล้ว ทั้งนี้ในเชิงกลยุทธ์ ฝ่ายวิจัยได้ให้เริ่มสะสมหุ้น BBL ด้วยน้ำหนัก 15% ของพอร์ตการลงทุนรวมมาในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ ฝ่ายวิจัยเลือก CK  และ PLANB เป็นหุ้นเด่นสำหรับวันนี้
ราคาน้ำมันดิบฟื้น หนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัว 1.1% โดยมีปัจจัยหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น  ตลาดกังวลแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรง ระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน โดยท่าที่ของสหรัฐจะคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมทำให้ Supply จากอิหร่านราว 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน ยังหายไป  และการผลิตน้ำมันจากซาอุดิอาระเบียยังหายไปราว  50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดราว 9.8 ล้านบาร์เรล แม้ล่าสุดจะมีความชัดเจนในระยะเวลากลับมาผลิต 100% ปลายเดือน ก.ย.62  ขณะที่ฝั่ง Demand ระยะสั้นยังมีปัจจัยหนุนจาก สหรัฐ-จีนเจรจาการค้ากัน
โดยรวมความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หนุนราคาน้ำมันน้ำมันดูไบ ล่าสุด อยู่ที่  60.68  เหรียญฯ   ASPS เชื่อว่าจะยังทรงตัวในระดับสูงได้อีกระยะหนึ่งบริเวณ  60 เหรียญฯได้ (เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 62.9 เหรียญฯ สมมติฐานที่  ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ)ยังดีต่อหุ้นพลังงาน PTT และ PTTEP
ธนาคารกลางทั่วโลก ยังคงลดดอกเบี้ยนโยบาย
วัฎจักรดอกเบี้ยโลกยังคงเป็นขาลง      หลังจากกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางหลัก สหรัฐ(Fed) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 ของปีนี้ ล่าสุดอยู่ที่ 2.0% และมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งราว 0.25% ในการประชุมที่เหลืออีก 2 รอบในปีนี้ คือ 29-30 ต.ค. และ 10-11 ธ.ค. และฝั่งยุโรป หลังจาก ECB ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละประเทศฝาก ECB ลง   0.1% เป็นติดลบ 0.5% และกลับมาใช้มาตรการ QE อีกครั้ง วงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือน
เช่นเดียวกับในเอเซียวานนี้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% ตามตลาดคาด และคงวงเงิน QQE ที่ 80 ล้านล้านเยนตามเดิม และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แม้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75% ตามตลาดคาด แต่กังวลต่อความเสี่ยงจากการถอนตัวออกจากยุโรป (Brexit) ซึ่งมีแนวโน้มยืดเยื้อวันที่ 31 ม.ค. 2563 จากปัจจุบันที่มีกำหนดในวันที่ 31 ต.ค. 2562
และวานนี้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ โดยปรับลดลง 0.25% เป็น 5.25% เพราะกังวลว่าเศรษฐกิจปี 2562 จะชะลอตัวลงจนต่ำกว่าเป้าของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ 5.2% (GDP Growth อินโดนีเซีย 1H62 ขยายตัว 5.06%) และในวันนี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะมีกำหนดประชุม โดยตลาดคาดว่า PBOC จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Loan Prime Rate (LPR) ลงราว 0.05% จาก 4.25% เป็น 4.2% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบสงครามการค้า
ASPS เชื่อว่าดอกเบี้ยโลกยังคงเป็นทิศทางขาลง  แต่น่าจะปรับลงในอัตราที่ชะลอ เนื่องจากหากพิจารณาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อ หรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง(Real Interest Rate) ทั่วโลก (ดังรูป) ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางเกือบทุกประเทศให้น้ำหนักในการพิจารณานโยบายการเงิน พบว่ายังมีช่องว่างหรือเป็นบวก แต่บวกในอัตราที่น้อยลง
อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย-เงินเฟ้อ)
 
ที่มา: Bloomberg
สัปดาห์หน้า ให้น้ำหนัก 25 ก.ย. การประชุม กนง.
สัปดาห์หน้าประเด็นที่ให้น้ำหนักกลับมาที่ในประเทศ   25 ก.ย. ประชุม กนง. จะดำเนินทิศทางนโยบายการเงินอย่างไร         ASPS ยังคาดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศยังมีโอกาสลงได้อีก 1 ครั้งในการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งของปีนี้ คือ  25 ก.ย. ,  6 พ.ย. และ 18 ธ.ค. โดยคาดว่ารอบที่จะถึง 25 ก.ย. กนง. จะมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจาก
ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ล่าสุดเงินบาทแกว่งตัวอยู่ที่  30.56 บาท/ดอลลาร์ อยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี 11 เดือน และหากนับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าราว 6.11%ytd  ซึ่งหากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง เชื่อว่าจะกระตุ้นให้ ธปท. พิจารณาดำเนินมาตรการควบคุมเงินบาทเพิ่มเติม ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงถือว่าเป็นมาตรการที่ช่วยลดแรงกดดันต่อเงินบาท
เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่มาตรการภาครัฐที่ออกมาในเดือน ส.ค. มีเม็ดเงินที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากนัก  คือ  มาตรการกระตุ้นการบริโภคเมื่อ ส.ค. 2562 วงเงินรวม  3.16 แสนล้านบาท (ราว 2% ของ GDP) และวงเงินส่วนใหญ่ (ราว 64%)เป็นมาตรการให้สินเชื่อผ่านธนาคารของรัฐ ซึ่งไม่ได้อัดฉีดเข้าระบบโดยตรง แต่เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจโดยตรงมีเพียงมาตรการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการเป็น 1,000 บาท ระยะเวลา ส.ค.-ก.ย. 2562 และมาตรการชิมช็อปใช้ คนละ 1,000 บาทเท่านั้น ส่งผลให้มีเม็ดเงินที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากนัก
อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest rate)  ของไทยปัจจุบันยังมีช่องว่าง และเป็นบวก อยู่ที่ 0.98% (ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่  1.5% เงินเฟ้อ 0.53%) ทำให้มีช่องว่างสามารถลดดอกเบี้ยลงได้      อย่างไรก็ตามส่วนต่างดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อ คาดมีแนวโน้มแคบลง เนื่องจากเงินเฟ้อในเดือน ก.ย. จนถึงสิ้นปีคาดปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้นแรงในเดือน ก.ย. ทีผ่านมา จนอาจจะทำให้ Real Interest rate ติดลบได้  ทั้งนี้จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยพบว่า ในกรณีที่ทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในขาลง ในบางช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์พิเศษ Real Interest Rate สามารถติดลบได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น
•    พ.ย. 2554 – มี.ค. 2555  : อัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ที่ราว 3.34-4.19% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3-3.5% แต่ กนง. ยังปรับลดดอกเบี้ยในเดือน พ.ย. 2554 จาก 3.5% เป็น 3.25% และในเดือน ม.ค. 2555 ปรับลดจาก 3.25% เป็น 3.0% เพราะ กนง. ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจาก ไทยเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วง 2H54 (GDP Growth ไทย 4Q54 หดตัว 4% เทียบกับ 3Q54 ที่ขยายตัว 2.4%)
•    มี.ค. 2557 – ส.ค. 2557:  อัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ที่ราว 2.09-2.62% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2-2.25% แต่ กนง. ยังปรับลดดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2557 จาก 2.25% เป็น 2.0% เพราะ กนง. ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากไทยเผชิญเหตุการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อในช่วง 4Q56-1H57 (GDP Growth ไทย 4Q56 ขยายตัว 0.2% และหดตัว 0.4% ใน 1Q57 เทียบกับ 3Q56 ที่ขยายตัว 2.5%)
และหากพิจารณาของสหรัฐ มีลักษณะคล้ายกัน คือ  Fed มีลดดอกเบี้ยลง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest rate)  ติดลบ คือ
ต.ค. 2545 – มิ.ย. 2546  อัตราเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ราว 2-3% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1-1.75% แต่ Fed ยังปรับลดดอกเบี้ยในเดือน พ.ย. 2545 จาก 1.75% เป็น 1.25% และในเดือน มิ.ย. 2546 ปรับลดจาก 1.25% เป็น 1.0% เพราะเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญวิกฤติ Dotcom ในช่วงปี 2545 (GDP Growth สหรัฐปี 2544-2545 ชะลอตัวเหลือ 1.0% และ 1.7% เทียบกับปี 2543 ที่ขยายตัว 4.1%)
ธ.ค. 2550 – ธ.ค. 2551 อัตราเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ราว 3.7-5.6% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25-4.25% แต่ Fed ยังปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ม.ค. 2551 จาก 4.25% เป็น 3.0%, เดือน มี.ค. 2551 จาก 3.0% เป็น 2.25%, เดือน เม.ค. 2551 จาก 2.25% เป็น 2.0%, เดือน ต.ค. 2551 จาก 2.0% เป็น 1.0% และเดือน ธ.ค. 2551 จาก 1.0% เป็น 0.25% เพราะ Fed ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเผชิญวิกฤติ Subprime ในช่วงปี 2551-2552 (GDP Growth สหรัฐปี 2551-2552 หดตัว 0.1% และ 2.5% เทียบกับปี 2550 ที่ขยายตัว 1.9%)
โดยรวมจากปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น ทำให้ ASPS คาดว่าการประชุม 25 ก.ย. 2562 นี้ กนง. ยังมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง
Market Earning Yield Gap กว้างขึ้น ... ตลาดหุ้น น่าสนใจอีกครั้ง!!
ปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยลดลงต่อเนื่องอยู่ในระดับทุกช่วงอายุ คือ ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน และ 1ปี อยู่ที่ 1.41% 1.42% และ 1.40%  ตามลำดับ (ระยะเวลา 1 เดือนกว่า ปรับตัวลดลงราว 30 bps.)  ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว โดยเฉพาะ Bond Yield 10 ปี ปรับตัวลดลงมากสุดกว่า 40 bps. ปัจจุบันอยู่ที่ 1.53% (รูปทางด้านล่าง) ถูกกดดันจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง อาทิ ธนาคารหลักในโลกทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ล่าสุดอยู่ที่ 2.0% และจะลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้ง, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาอยู่ที่ -0.5% และกลับทำ QE ส่วนธนาคารกลางไทย (การประชุม กนง. 25 ก.ย.62) น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ฝ่ายวิจัย ASPS คาดมีโอกาสจะปรับลงดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1 ครั้ง มาอยู่ที่ 1.25%  อย่างไรก็ตาม ภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากนาน ตามกลไลแล้วจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น กลับมาได้รับความน่าสนใจในระยะถัดไป
และหากวิเคราะห์ Market Earning Yield Gap ณ ปัจจุบัน พบว่า กว้างขึ้น มาอยู่ที่ราว 4.68% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังในอดีตที่ 4.28% มาก และเมื่อไหร่ก็ตามที่ Fund Flow ไหลกลับเข้ามาจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยผลักดัน SET Index
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!