หมวดหมู่: พาณิชย์

1abABเงินเฟ้อ


เงินเฟ้อก.ค.ลด 0.98% ปรับตัวดีขึ้น 2 เดือนติด หลังน้ำมันทรงตัว อาหารสดเริ่มขยับ

      พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อก.ค.63 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เหลือติดลบ 0.98% จากที่เคยติดลบหนักในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า เหตุราคาพลังงานเริ่มทรงตัว อาหารสดราคาขยับขึ้นในรอบ 3 เดือน จากการเปิดเรียนและคลายล็อกดาวน์ มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟสิ้นสุด และผู้ประกอบการลดจัดโปรโมชัน คาดแนวโน้มเงินเฟ้อยังทรงตัวในแดนลบ หลังฐานราคาน้ำมันปีนี้ยังต่ำ เป็นตัวฉุด คาดทั้งปีลบ 1.1% 

      น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.ค.2563 ลดลง 0.98% เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากที่เคยติดลบหนักตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย.2563 โดยลดลง 2.99% , 3.44% และ 1.57% ตามลำดับ จึงไม่น่ากังวลในเรื่องเงินเฟ้อที่ขยายตัวติดลบ โดยมองว่าเงินเฟ้อจะยังทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไป ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจในประเทศ และเงินเฟ้อรวม รวม 7 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) ลดลง 1.1% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานออก เดือนก.ค.2563 สูงขึ้น 0.39% เฉลี่ย 7 เดือน สูงขึ้น 0.34%

      สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนก.ค.2563 ฟื้นตัวดีขึ้น มาจากราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ส่งผลให้การหดตัวของราคาพลังงานในเดือนนี้ลดลง จากเดิมที่ราคาพลังงานจะเป็นตัวฉุดเงินเฟ้อสำคัญ , อาหารสดกลับมาเพิ่มขึ้นในรอบ 3 เดือน จากการเปิดภาคเรียน การคลายล็อกดาวน์ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ และราคาเนื้อสุกรในประเทศสูงขึ้น จากความต้องการของเพื่อนบ้าน , มาตรการลดค่าไฟฟ้าและประปา สิ้นสุดลง และผู้ประกอบการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าน้อยลง ทำให้ราคากลับมาเป็นปกติ

      ส่วนรายละเอียดเงินเฟ้อที่ลดลง 0.98% มาจากการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลด 1.87% โดยการขนส่งและการสื่อสาร ลด 5.12% กลุ่มพลังงาน ลด 10.91% เคหสถาน ลด 0.06% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.04% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.21% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลด 0.02% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.55% จากการสูงขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 5.17% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 3.43% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.63% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.57% นอกบ้าน เพิ่ม 0.71% แต่ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ ราคาลดลง

      ทั้งนี้ ในเดือนก.ค.2563 มีสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น 210 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ซี่โครงหมู ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า น้ำมันพืช น้ำอัดลม และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ไม่เปลี่ยนแปลง 75 รายการ และลดลง 137 รายการ เช่น น้ำมัน ทั้งเบนซิน และดีเซล ก๊าซหุงต้ม ส้มเขียวหวาน พริกสด และเงาะ เป็นต้น

      น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนต่อไป คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการที่รัฐบาลส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวในประเทศ และราคาพลังงานเริ่มทรงตัว แต่อาจจะยังอยู่ในแดนลบ เพราะราคาพลังงานเมื่อเทียบกับปีก่อนยังต่ำ และยังต้องติดตามการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ราคาพลังงานโลก เศรษฐกิจโลก ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังวางใจไม่ได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2563 อยู่ที่ติดลบ 0.7% ถึงลบ 1.5% มีค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1% มีปัจจัยสนับสนุนจากจีดีพี ติดลบ 7.6% ถึงลบ 8.6% น้ำมันดิบดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกรกฎาคม 2563

ภาพรวม

     ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกรกฎาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.98 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 1.57 ในเดือนก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจาก 1) ราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ส่งผลให้อัตราการหดตัวของราคาพลังงานในเดือนนี้ลดลง 2) อาหารสดกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 3 เดือน ตามความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งการเปิดภาคเรียนใหม่ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ รวมทั้งการเกิดโรคระบาดสุกรในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ความต้องการสุกรในประเทศเพิ่มขึ้น 3) มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ประปา ได้สิ้นสุดลง และ 4) การจัดโปรโมชั่นด้านราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะในหมวดอาหารบริโภคนอกบ้าน

     การปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองนั้น สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์และรถยนต์เชิงพาณิชย์ ชี้ว่าปัจจัยด้านอุปสงค์ในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญของการปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้อย่างมีนัยสำคัญ

     เมื่อหักอาหารสดและพลังงาน เงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.39 และเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.- ก.ค.) ปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไป ลดลงร้อยละ 1.11 (AoA) และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.34 (AoA)

  

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกรกฎาคม 2563

ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป)

    ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกรกฎาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.98 (YoY) ตามการลดลงของสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.87 ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ 5.12 จากการงดเก็บค่าผ่านทางพิเศษช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2563 และการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ส่งผลให้กลุ่มพลังงาน ลดลงร้อยละ 10.91 รวมทั้งการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.04 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 0.06 (ก๊าซหุงต้ม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.04 (เสื้อยืด/เสื้อเชิ้ตบุรุษ กางเกงขายาวเด็ก) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯ และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.21 และ 0.02 ตามลำดับ

      ขณะที่หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 1.17 (โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน แชมพูสระผม) และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.32 (ค่าโดยสารรถตู้วิ่งระหว่างจังหวัด ค่าโดยสารเครื่องบิน) สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.55 จากการสูงขึ้นของ ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 5.17 (ข้าวสารเหนียว) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 1.50 (เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 3.43 (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.63 (น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ร้อยละ 0.57 และร้อยละ 0.71 ตามลำดับ (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง อาหารเช้า อาหารตะวันตก (ไก่ทอด พิซซ่า)) ขณะที่ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง) ผักและผลไม้ (พริกสด มะนาว มะเขือเทศ ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง) ราคาปรับลดลง

    ดัชนี ราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.66 (MoM)และเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.- ก.ค.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.11 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต

     ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกรกฎาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.5 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 3.1 ซึ่งราคาสินค้าส่วนใหญ่เคลื่อนไหวตามทิศทางของตลาดโลก และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.3 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้น) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (สายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า) หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 18.8 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก) ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า/เหนียว มะพร้าวผล และอ้อย ปริมาณผลผลิตลดลงจากภัยแล้ง ผลปาล์ม ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามมาตรการสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 สุกร/ไก่มีชีวิต ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาทูสด ปลาลัง ปลาหมึกกล้วย และกุ้งแวนนาไม  สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด ยางพารา พืชผัก (มะนาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี) และผลไม้ (มะม่วง มังคุด ส้มเขียวหวาน)

    ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (MoM) และเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.- ก.ค.)  ปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.3 (AoA)

ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้าง

        ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนกรกฎาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.8 (YoY) ติดลบ   ในอัตราที่น้อยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สอดคล้องกับการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 8.6 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก)  หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.9 (เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป-อัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป) ผู้ประกอบการต่างเร่งระบายสินค้า เนื่องจากสต็อกมีจำนวนมาก ขณะที่หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (ปูนซีเมนต์ผสมและปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์)

     การก่อสร้างเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (กระเบื้องแกรนิต) ปรับสูงขึ้นตามต้นทุน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (ยางมะตอย) เนื่องจากโรงกลั่นในสิงคโปร์หยุดการผลิตในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (โถส้วมชักโครก ที่ปัสสาวะเซรามิก) สำหรับหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

       ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (MoM) และเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.- ก.ค.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.8 (AoA)

ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภค

       ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนกรกฎาคม 2563 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 41.0 จากระดับ 42.5 ในเดือนก่อน จากการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 36.0 มาอยู่ที่ระดับ 35.6 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ลดลงจากระดับ 46.9 มาอยู่ที่ระดับ 44.5 และเป็นการลดลงในทุกภูมิภาค ซึ่งการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ คาดว่ามีสาเหตุสำคัญจากความกังวลของประชาชนต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง

     แม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่ในหลายๆ ประเทศยังประสบปัญหาการระบาดระลอกที่ 2 และความผันผวนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ถึงแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐออกมาเพื่อดูแลประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว น่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ในระยะต่อไป

 

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนสิงหาคม 2563

      จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น มาตรการรัฐที่เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ทำให้เงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ความผันผวนของราคาพลังงานโลก และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจไว้วางใจได้และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ที่ร้อยละ -1.5 ถึง -0.7 (ค่ากลางอยู่ที่ -1.1)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

Forex Exness1

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!