หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV5 copy copy


ผลิตภัณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว

 

        คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้

  1. เห็นชอบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว
  2. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

สาระสำคัญ

         เนื่องจากการสร้างเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สร้างวินัยการออม และมีการวางแผนทางการเงินเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตหลังเกษียณยังคงมีความสำคัญและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ข้อ 5.1.4 ปฏิรูประบบการออม'โดยจัดให้มีระบบการออม เพื่อการเกษียณอายุอย่างทั่วถึง พัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนให้เป็นแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ และเป็นช่องทางการออมของประชาชน พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่จะส่งเสริม ให้คนไทยทุกคนเข้าสู่ระบบการออมและการลงทุนระยะยาวให้สามารถรองรับพฤติกรรม และวัฏจักรชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและลดต้นทุน พัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงานขององค์กรการเงินชุมชนและสหกรณ์ทุกระดับ และพัฒนาความรู้พื้นฐานทางการเงินแก่ประชาชน ตลอดจนการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน ให้มีความมั่นคง'

     ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับปรุงนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ตรงกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งต้องการความยืดหยุ่นในแง่ระยะเวลาการออมและจำนวนเงินที่จะออมเพื่อจูงใจให้มีการออมระยะยาวมากขึ้น กระทรวงการคลังจึงเห็นควรเสนอ ดังนี้

  1.       สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ให้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 และวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 อย่างไรก็ดี การออกกฎกระทรวงตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยังไม่รวมถึงการกำหนดให้เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกันกับเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอื่น ๆ ดังนั้น จึงเห็นควรแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้ผู้ซื้อ LTF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน LTF
  2.       กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) (กองทุน SSF)ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการออมระยะยาวรูปแบบใหม่ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเงินจ่ายเบี้ยประกันชีวิตสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี โดยกองทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท

     ทั้งนี้ ผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ โดยไม่กำหนดจำนวนซื้อขั้นต่ำ ไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเน้นไปยังกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

    นอกจากนี้ การกำหนดให้ลดหย่อนภาษีสูงสุดร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินสอดคล้องกับอัตราการให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินสะสมเข้ากองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มอัตราเงินสะสมของสมาชิกจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 30 ของเงินเดือน และร่างกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งกำหนดอัตราเงินสะสมของสมาชิกในร่างกฎหมายไว้ที่ร้อยละ 30 ของค่าจ้าง

   ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประเมินความคุ้มค่า และผลลัพธ์ของโครงการในปีที่ 5 (2567) เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

  1. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF ภายใต้วงเงินเดิมในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

       (1) ปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF สูงสุด จากเดิมไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน เป็นร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน โดยยังคงกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ เงินจ่ายเบี้ยประกันชีวิตสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือกองทุน SSF) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนออมได้มากขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางการปรับเพิ่มเงินสะสมของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่น

          (2) ยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF (จากเดิมกำหนดให้ซื้อจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมิน หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปี ติดต่อกันเช่นเดิม

        ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรการข้างต้น กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้โดยการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

ผลกระทบ

            การดำเนินมาตรการที่เสนอเข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามบทบัญญัติในมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 ซึ่งต้องมีการนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมสรรพากรได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 และมาตรา 32 เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าการดำเนินมาตรการจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังฯ ดังนี้

1) ประมาณการสูญเสียรายได้

               จากการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่กองทุน SSF และปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกองทุน RMF จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 14,000 ล้านบาท

2) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

            การออมระยะยาวของประชาชนเพิ่มขึ้น ช่วยนำไปสู่ความมั่นคงทางรายได้เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ โดยหากมีการซื้อกองทุน RMF และกองทุน SSF เต็มเพดานที่กำหนด ผู้ที่มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท 50,000 บาท และ 100,000 บาท จะมีเงินออมระยะยาวเพิ่มขึ้นจากเดิมได้ถึงปีละ 108,000 บาท 360,000 บาท และ 500,000 บาท ตามลำดับ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 ธันวาคม 2562

     สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

******************************************

โลโก้เส้นพูดเบาและรวดเร็วไลค์ 1 แชร์ 3ถูกใจ 1 คนแชร์ 1กด  L Ike - แบ่งปัน  เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ  

 คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน

ais 790x90GC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!