หมวดหมู่: กลต.

SEC Rapee


เติมภูมิคุ้มกัน มั่นใจลงทุน กับบูธ ก.ล.ต. ในงาน SET in the City 2018

        ข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือโลกออนไลน์ เกี่ยวกับข่าวผู้ลงทุนที่หลงกลถูกมิจฉาชีพหลอกให้ร่วมลงทุน และข่าวการลงโทษผู้กระทำผิดฐานหลอกลวงนักลงทุน สะท้อนว่าผู้ลงทุนไทย ควรต้องตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันในการลงทุนให้ตัวเอง เพื่อป้องกันการตกเป็น 'เหยื่อ' หรือเป็นผู้เสียหายของกลโกงในตลาดทุน ซึ่ง 'ภูมิคุ้มกัน'ที่ว่า ผู้ลงทุนทั่วไป สามารถสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง โดยมีแนวทางในการประเมินตัวเองในขั้นต้นแบบง่ายๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ!

    'รพี สุจริตกุล'เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เน้นย้ำว่า 'ภูมิคุ้มกัน'ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวผู้ลงทุนเอง ที่ต้องรู้ใจตัวเองก่อนจะตัดสินใจเข้าไปลงทุน เพราะการ “รู้ใจตัวเอง รู้จักตัวเอง” จะเป็นเกราะป้องกันด่านแรก ไม่ให้หลงไปลงทุนอะไรที่ผิด จนเกิดความเสียหายในที่สุด

      การ 'รู้ใจตัวเอง รู้จักตัวเอง'ก็คือรู้ว่าสินทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุนนั้น เหมาะกับตัวผู้ลงทุนเองหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ลงทุนหน้าใหม่ ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ไม่รู้จักตัวเอง แต่จะฟังและเชื่อข้อมูลจากเพื่อน คนรู้จัก ญาติมิตร ทั้งๆ ที่เราไม่รู้เลยว่าคนเหล่านี้ เขาเป็นคนที่มีความรู้เรื่องการลงทุนจริงหรือไม่

    ต่างจากผู้ให้บริการด้านการลงทุน ที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายจาก ก.ล.ต. ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้ ได้มาตรฐานในการประกอบธุรกิจ ทั้งในเรื่องการเก็บรักษาทรัพย์สิน การทำความรู้จักลูกค้า การดูแลพอร์ตลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของลูกค้า โดยประเด็นเหล่านี้ ปัจจุบัน ก.ล.ต. ทำหน้าที่ดูแลอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว

    อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันตนเองเพื่อให้ปลอดภัยจากการถูกหลอกให้ลงทุน ก็มีวิธีเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนสามารถประเมินได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง 2 ข้อ

     อันดับแรกคือ 'ประเมินคน'บุคคลหรือผู้ชักชวนนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่? กลโกงเหล่านี้ มักจะใช้คนที่ดูน่าเชื่อถือมาชักชวนเพื่อทำให้เราหลงกลได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ตัวผู้ลงทุนเอง จึงต้องตรวจสอบด้วยว่า คนคนนั้น อยู่ในวงการจริงหรือไม่? หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่?

    อันดับที่สองคือ 'ประเมินความเป็นไปได้' เวลามีข้อเสนอที่สัญญาหรือการันตีว่า เงินต้นอยู่ครบแน่นอน หรือได้รับผลตอบแทนแน่นอน รวมทั้งเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริง ซึ่งหากมีใครมาพูดแบบนี้ ให้นักลงทุนสงสัยไว้ก่อนว่า มีความเสี่ยงถูกโกงแน่นอน เพราะการลงทุนทุกรูปแบบ ไม่มีทางการันตีสิ่งเหล่านี้ได้

     ทั้งนี้ หากพิจารณาจากทั้ง 2 ข้อแล้ว ยังไม่มั่นใจว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้จากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยตรง เพราะในอีกด้านหนึ่ง ก.ล.ต. ก็ทำหน้าที่ในการปกป้องผู้ลงทุนคู่ขนานกันไปอยู่แล้ว ด้วยการออกข่าวเตือน หากพบผู้ประกอบการหรือบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ เพื่อแจ้งให้ผู้ลงทุนเพิ่มความระมัดระวังจากการที่ถูกชักชวนและใช้วิจารณญาณก่อนตัดสินใจลงทุนให้มากขึ้น

      ปัจจุบัน บทบาทของ ก.ล.ต. ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงปกป้องหรือคอยเติมภูมิคุ้มกันให้ผู้ลงทุนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ลงทุน ให้สามารถใช้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งลงทุน เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

     เลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า ตลาดทุนไทย เป็นหนึ่งในตลาดที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ ที่สำคัญ ยังเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา แต่จากข้อมูลกลับพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ ไม่เอาเงินมาลงทุนหรือใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ไม่เต็มศักยภาพ สะท้อนจากจำนวนบัญชีผู้ลงทุนทั้งที่เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์และเปิดบัญชีกองทุนรวมที่มีอยู่เพียง 3 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีประชากรสูงกว่า 60 ล้านคน

       และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทย ไม่เข้ามาลงทุนในตลาดทุน ก็คือ ประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการลงทุน เช่น ลงทุนผิดจังหวะแล้วขาดทุน ทำให้ไม่กล้ากลับมาลงทุนอีก หรือถ้าไม่ขาดทุน ก็รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ไม่มีคนคอยติดตามดูแลหรือให้คำแนะนำที่จะเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น

       ประกอบกับเจ้าหน้าที่หรือผู้ขายผลิตภัณฑ์การลงทุนส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้มาดูว่า ผู้ลงทุนควรจะมีสินทรัพย์ประเภทไหนอยู่ในพอร์ตบ้าง บางครั้งขายสินค้าเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกินความจำเป็น ซึ่งไม่ตอบโจทย์การกระจายความเสี่ยง และทำให้ขาดความสมดุลระหว่างพอร์ตลงทุนระยะสั้นและระยะยาว

        ปัญหาเหล่านี้ ถือเป็น 'Pain Point'ใหญ่ของนักลงทุนไทย ที่ทำให้สุดท้ายแล้ว ไม่สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม คิดโครงการ "5 ขั้นมั่นใจลงทุน" ขึ้นมา เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ลงทุน ว่าจะได้รับการดูแลอย่างครบวงจรตลอดการลงทุน

       หัวใจหลักของโครงการ "5 ขั้นมั่นใจลงทุน" คือ ผู้ลงทุนทุกคน จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกันตั้งแต่เริ่มต้นลงทุน ไปจนถึงบริการหลังการลงทุน ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ คือ

               1. การวิเคราะห์ความต้องการ

               2. การกำหนดสัดส่วนเงินลงทุน

              3. การเลือกลงทุนตามเป้าหมาย

               4. การติดตามและปรับกลยุทธ์

               5. การรายงานภาพรวมการลงทุนของลูกค้า

   น่ายินดีว่า ปัจจุบัน มีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความเห็นชอบและสามารถให้บริการแนะนำการลงทุนภายใต้โครงการ "5 ขั้นมั่นใจลงทุน" จากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว 26 ราย และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกตามลำดับ ซึ่งทั้ง 26 ราย จะมีแพลตฟอร์มการลงทุนที่แตกต่างกันไป แต่อยู่ภายใต้มาตรฐานตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ตั้งแต่เงินลงทุนขั้นต่ำ ที่สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ด้วยเงินหลักพันบาท หรือการนำเอาเทคโนโลยี มาอำนวยความสะดวกผู้ลงทุนและมีที่ปรึกษาการลงทุนที่คอยทำหน้าที่ปรับพอร์ตให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับตัวเองได้ และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนไทย ได้ยกระดับตัวเองให้เป็นผู้ลงทุนคุณภาพ โดยมีทั้งภูมิคุ้มกัน และมั่นใจที่จะลงทุน ก.ล.ต. จึงขอเชิญผู้สนใจมาร่วมงาน SET in the City 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2561 ณ พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

      โดยภายในบูธของ ก.ล.ต. จะมีโปรแกรมทดสอบภูมิคุ้มกันของตนเอง รวมทั้งความรู้ในเรื่องสินทรัพย์การลงทุน ผู้เยี่ยมชมบูธยังจะได้ทำความรู้จักบริการรูปแบบใหม่ของคำแนะนำการลงทุนแบบครบวงจรที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะมีเงินน้อยหรือมาก ภายใต้โครงการ "5 ขั้นมั่นใจลงทุน" เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวอีกด้วย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!