หมวดหมู่: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ

 

ttb analytics แนะรัฐ เสริมแนวทางการฉีดวัคซีนเชิงรุกกระจายสู่กลุ่มเป้าหมาย High mobility ควบคู่กลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุ และเร่งสปีดการฉีดเพิ่ม คาดช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อได้มากขึ้น และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ลดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจได้ 5.7 หมื่นล้านบาท

 

          ชงแนวทางการกระจายวัคซีนใหม่ฉีดวัคซีนเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความเสี่ยงจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แม้เริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ในเบื้องต้นมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1.2 ล้านคน หรือร้อยละ 1.8 ของประชากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสติดเชื้อ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้อยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดสูง เช่น คลัสเตอร์ตามชุมชน โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) มองโจทย์ท้าทายในขณะนี้คือ ทำอย่างไรให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงได้เร็ว ขณะเดียวกันสามารถทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

          หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ดียิ่งขึ้นคือ แนวทางการกระจายวัคซีนเชิงรุก (Targeted Approach) แก่ประชากรที่เหมาะสม โดยอาศัยปัจจัยการเคลื่อนไหว (Mobility) ทั้งนี้ เนื่องจากแต่ละกลุ่มประชากรในประเทศ ล้วนต่างมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาชีพและช่วงอายุ จึงทำให้แต่ละกลุ่มประชากรมีโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อและมีความสัมพันธ์ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป

          การประเมินรูปแบบการกระจายวัคซีนเชิงรุก โดยอาศัยเกณฑ์การเคลื่อนไหว (Mobility) สามารถแบ่งกลุ่มผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ตามลักษณะพฤติกรรมการพบปะผู้คนและการเดินทาง ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

          1) กลุ่ม High Mobility จำนวน 20.2 ล้านคน ประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ พนักงานขาย พนักงานขนส่ง พนักงานบริการ และพนักงานโรงงาน จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสูง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่มีส่วนในกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งหลักๆ เป็นภาคการค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วนกว่า 62% ของจีดีพี

          2) กลุ่ม Medium Mobility จำนวน 6.9 ล้านคน เป็นกลุ่มของพนักงานออฟฟิศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทให้พนักงานส่วนหนึ่งทำงานที่บ้าน (Work from home) สามารถลดความหนาแน่นในที่ทำงานได้ จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้น้อยกว่ากลุ่มแรก

          3) กลุ่ม Low Mobility จำนวน 39.3 ล้านคน ได้แก่ ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อค่อนข้างต่ำ

          ซึ่งการแบ่งกลุ่มผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อนำมาสู่แผนการกระจายวัคซีนใน 3 แนวทาง คือ 1.เน้นฉีดกลุ่ม Low Mobility เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนของภาครัฐในบางส่วน ที่มีการเน้นฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 2. เน้นฉีดกระจายทุกกลุ่ม (ปูพรม) ซึ่งเป็นแนวทางล่าสุดที่ภาครัฐมีแนวโน้มจะปรับใช้ 3. เน้นฉีดกลุ่ม High Mobility ควบคู่ไปกับกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุ โดยการกระจายการฉีดวัคซีนแบบเชิงรุกให้กับผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสูง เช่น สถานที่ทำงาน โรงงาน ห้างสรรพสินค้า ตลาด ร้านค้า และงานบริการต่างๆ

 

5477 ttba info1


 

          หนุนฉีดวัคซีนเชิงรุกกลุ่ม High Mobility ควบคู่ไปกับกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุส่งผลให้ปลดล็อคเศรษฐกิจเร็วขึ้น

          ภายใต้กรอบแผนการกระจายฉีดวัคซีน 300,000 โดสต่อวัน ผลของการวิเคราะห์ที่ประยุกต์แบบจำลองทางระบาดวิทยา (SIR) แสดงให้เห็นว่าการกระจายวัคซีน สามารถทำให้ยอดผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแนวทางการกระจายวัคซีนในแต่ละกลุ่ม พบว่ามีความแตกต่างของจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยพบว่า แนวทางที่เน้นการฉีดกลุ่ม Low Mobility ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 3,600 คนต่อวัน หลังจากนั้นในไตรมาสแรกปี 2565 ถึงจะเริ่มเห็นตัวเลขลดลงอย่างชัดเจน อีกทั้งจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมในกลุ่ม Low Mobility สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 26.3 ล้านคนจากจำนวนประชากรในกลุ่มนี้ที่มีถึง 39 ล้านคน และที่น่าสนใจคือการฉีดนำร่องด้วยกลุ่ม Low Mobility ส่งผลให้ประชากรในกลุ่ม High Mobility ที่ได้รับวัคซีนจะมีเพียง 13.9 ล้านคนเท่านั้น เทียบกับประชากรที่มีอยู่ถึง 20.3 ล้านคนในกลุ่มนี้ ในขณะที่แนวทางเน้นฉีดแบบปูพรม พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อ ธันวาคม 2564 จะอยู่ที่ 1,600 คนต่อวัน น้อยกว่าการฉีดเน้นกลุ่ม Low Mobility ถึงกว่าร้อยละ 50 

          เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติม พบว่าหากใช้แนวทางเน้นฉีดวัคซีนเชิงรุก กล่าวคือ การฉีดกลุ่ม High Mobility ควบคู่กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (รวมผู้มีโรคประจำตัว) ซึ่งเป็นแนวทางการฉีดวัคซีนของภาครัฐในขณะนี้ จะทำให้แนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อทยอยลดลงได้มากเช่นกัน ซึ่งคาดว่ายอดผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่ 600 คนต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2564 ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเชิงรุกดังกล่าวในภาพรวมจะทำให้ประชากรในแต่ละกลุ่มได้รับวัคซีนมากกว่า โดยกลุ่ม High Mobility ที่มีจำนวนประชากร 20.3 ล้านคน และกลุ่ม Medium Mobility จำนวน 6.6 ล้านคนจะได้รับวัคซีนครอบคลุมประชากรทั้งหมด ภายในสิ้นปี 2564 

          นอกจากนี้ แนวทางเลือกฉีดวัคซีนในแต่ละกลุ่ม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน กล่าวคือ หากใช้แนวทางการฉีดให้กลุ่ม Low Mobility ก่อน จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวในเดือนธันวาคม 2564 และจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการราว 8.96 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงกว่ากลุ่มอื่น อย่างไรก็ดี หากใช้แนวทางฉีดเชิงรุกตามกลุ่มเป้าหมาย (Targeted Approach) คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเริ่มฟื้นตัวเร็วขึ้นประมาณเดือนตุลาคม 2564 และความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการจะลดลงอยู่ที่ 6.46 หมื่นล้านบาท หรืออาจกล่าวได้ว่าการใช้แนวทางการฉีดเชิงรุกจะทำให้ความสูญเสียน้อยลงกว่าฉีดกลุ่ม Low Mobility ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

 

5477 ttba info2

 

          เร่งสปีดฉีดวัคซีนวันละ 5 แสนโดส ช่วยลดยอดผู้ติดเชื้อได้มาก และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น

          หากเร่งปริมาณการฉีดวัคซีนโดยเพิ่มจาก 3 แสนโดสต่อวัน เป็น 5 แสนโดสต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการฉีดวัคซีนของภาครัฐล่าสุดกำหนดเป้าหมายอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน จะทำให้แนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อลดลงในอัตราเร่ง และเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ โดยยอดผู้ติดเชื้อ เดือนธันวาคม มีจำนวนต่ำกว่า 100 คนต่อวัน ซึ่งส่งผลให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการอยู่ที่ 5.63 หมื่นล้านบาท สำหรับกรณีเลือกฉีดกลุ่ม Low mobility ก่อน ซึ่งจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในช่วงเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป แต่หากเลือกใช้การฉีดเชิงรุกแก่กลุ่ม High Mobility ควบคู่กับฉีดกลุ่มเสี่ยง ความสูญเสียจะน้อยกว่า โดยอยู่ที่ 3.22 หมื่นล้านบาท และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

          หากเทียบกับกรณีการเร่งฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 5 แสนโดสต่อวัน ในกลุ่มเชิงรุก กับการฉีดตามแผน 3 แสนโดสต่อวัน ในกลุ่ม Low Mobility พบว่า จะช่วยลดความสูญเสียได้เพิ่มขึ้นถึง 5.7 หมื่นล้านบาท และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 ดังนั้น แนวทางการฉีดเชิงรุก (Targeted Approach) พร้อมทั้งเร่งสปีดการฉีด 5 แสนโดสต่อวัน จะส่งผลทำให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจลดลง และช่วยเร่งระยะเวลาการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

          ทั้งนี้ การวิเคราะห์ข้างต้นอยู่บนสมมุติฐานว่า มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 อันเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ภายหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศปรับตัวลดลง ยิ่งไปกว่านั้น การฉีดวัคซีนจะดำเนินเป็นไปตามแผนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการวางแผนให้ครอบคลุมทั้งบุคลากรทางแพทย์ที่อยู่ในกลุ่ม High Mobility และผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่ม Low Mobility ตลอดจนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวซึ่งกระจายอยู่ทั้ง 3 กลุ่มแล้ว ในช่วงเดือนมิถุนายน และในเดือนกรกฎาคม การฉีดวัคซีนจะเริ่มกระจายสู่ประชากรทั่วประเทศ โดยจะเริ่มเห็นผลต่อการควบคุมการระบาดได้ในเดือนสิงหาคม

นอกจากนี้ การเร่งฉีดวัคซีนจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเร็วขึ้น โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน กับ Mobility โดยประเทศที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อประชากรยิ่งมาก Mobility จะยิ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนฉีดวัคซีน เช่น อิสราเอล สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา

          โดยสรุป การควบคุมการแพร่ระบาดไม่สามารถกระทำได้จากภาคส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องเป็นการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนในด้านต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่การดูแลป้องกันตัวเองลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชิงรุก การแก้ไขดูแลปัญหาผู้ติดเชื้อตามโรงพยาบาลและสถานที่จัดไว้ รวมไปถึงการกระจายและจัดการวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปในเชิงรุกให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ย่อมช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ และยังช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจให้น้อยลง ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ภาคธุรกิจฟื้นได้เร็วขึ้น และรัฐสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

 

A5477

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!