หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 6


สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 14/2563

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอ สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 14/2563 เมื่อวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้

          สรุปสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ

          1. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ฯ ดังนี้

                 1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 55,915,903 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมาก 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล สำหรับประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานการณ์น่าห่วงกังวล อาทิ เมียนมา และมาเลเซีย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,569 ราย และ 1,210 ราย ตามลำดับ

                 2) สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย ปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 3,880 ราย เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,427 ราย (ร้อยละ 36.78) หายป่วยแล้ว 3,729 ราย (ร้อยละ 96.11) เสียชีวิต 60 ราย (ร้อยละ 1.55) และกำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล 91 ราย (ร้อยละ 2.35)

          2. ความคืบหน้าการพัฒนาและผลิตวัคซีนโรคโควิด - 19 ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 ของต่างประเทศ และวัคซีนของประเทศไทยที่กำลังพัฒนาและมีความก้าวหน้ามากที่สุด ซึ่งปรากฏผลการทดสอบได้ผลดีในลิง และเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 ในช่วงต้นปี 2564 รวมถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด - 19 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้ากับบริษัท AstraZeneca และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท เพื่อจัดหาวัคซีนร้อยละ 20 ของประชากร หรือ 13 ล้านคน จำนวน 26 ล้านโดส ทั้งนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติจะจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment: AMC) ในวงเงิน 2,379,430,600 บาท

          3. การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ตามแนวชายแดน ที่ประชุมรับทราบรายงานฯ ดังนี้

                 1) การสกัดกั้นและจับกุมบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยบูรณาการปฏิบัติการของกองกำลังป้องกันชายแดน เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สถิติการจับกุมบุคคลต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดนระหว่างเดือนมิถุนายนและเดือนพฤศจิกายน (1 - 17 พฤศจิกายน 2563) ลดลงร้อยละ 45 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

                 2) การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ตามแนวชายแดน โดยสรุปยอดการเดินทางเข้าประเทศไทยของผู้มีสัญชาติไทยผ่านช่องทางพื้นที่ชายแดน ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน - 17 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เดินทางเข้า จำนวน 31,548 คน พ้นระยะกักกัน 14 วัน และส่งกลับภูมิลำเนา จำนวน 31,067 คน คงเหลือในระยะกักกัน 14 วัน จำนวน 481 คน ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรการสำหรับจังหวัดชายแดนที่มีช่องทางขนส่งสินค้า 27 จังหวัด เป็นไปอย่างเข้มงวด

          4. รายงานความคืบหน้าการดำเนินมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมาย ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าฯ ดังนี้

                 1) การอนุญาตให้บริษัท เอ็นเอ็มบี - มินิแบ ไทย จำกัด นำผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยกเว้นการกักตัว 14 วัน

                 2) การอนุญาตให้นักบินต่างชาติเข้ามาทำการตรวจสอบความเชี่ยวชาญของนักบิน (PPC) โดยใช้เครื่องจำลองการฝึกบิน (Flight Simulator) ในประเทศไทย

                 3) มาตรการทางสาธารณสุขรองรับการจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับนานาชาติ “BWF World Tour” ในประเทศไทย

                 4) การผ่อนผันให้บุคคลต่างชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศโดยเข้ารับการกักกันตัวในแบบ Wellness Quarantine รูปแบบกีฬา Golf Quarantine 

          ข้อสังเกตที่ประชุม

          เห็นควรให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหาแนวทางการตรวจคัดกรองโรคโควิด - 19 ท่าอากาศยาน เนื่องจากตามกำหนดการจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับนานาชาติ “BWF World Tour” นักกีฬาต่างชาติจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 4 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงหลังหยุดเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้อาจไม่สามารถหาใบรับรองแพทย์ (Health Certificate) ที่ออกให้โดยมีระยะเวลาไม่เกิน ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทางได้ทันเวลา

          5. ที่ประชุมเห็นควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 8) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 เพื่อความปลอดภัยด้านสาธารณสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่และรักษาความพร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันระดับนานาชาติ BWF World Tour ระหว่างวันที่ 12 - 31 มกราคม 2564

          6. การขยายเวลาในการปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ฯลฯ ในเวลาภายหลัง 22.00 . ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่กรุงเทพมหานครเสนอขยายเวลาปิดสถานประกอบการดังกล่าวในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ให้สามารถปิดหลังเวลา 22.00 . ได้ตามความพร้อมและความสมัครใจ

          7. การขยายเวลาปิดสถานบันเทิง สถานบริการ ให้เป็นไปตามเวลาปกติของแต่ละกิจการตามที่กฎหมายกำหนด ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขยายเวลาปิดสถานบันเทิง สถานบริการ ให้เป็นไปตามเวลาปกติของแต่ละกิจการตามที่กฎหมายกำหนดในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

          8. การเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมในการประชุม การอบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า การจัดเลี้ยง งานพิธี หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครเสนอเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยไม่จำกัดพื้นที่ต่อผู้เข้าชม

          9. การเพิ่มจำนวนผู้ชมการแสดงคอนเสิร์ต ดนตรี การแสดงนาฏศิลป์ และโรงภาพยนตร์ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอยกเลิกการจำกัดจำนวนผู้ชมและเพิ่มอัตราส่วนของผู้ชมการแสดงจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่จัดการแสดง

          10. การกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับสถานที่กักกันตัวในรูปแบบ Area Quarantine ที่ประชุมรับทราบแนวทางการกักกันตัวในรูปแบบ Area Quarantine (10 + 4 วัน) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้ (1) ให้เข้ารับการกักกันใน Original Quarantine จำนวน 10 วัน และคุมไว้สังเกต (ใน Alternative State Quarantine) จำนวน 4 วัน โดยให้มีการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด (2) ให้ใช้เฉพาะกับบุคคลต่างชาติที่มาจากกลุ่มประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด (3) ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณากำหนดวันและเวลาเริ่มต้นตามความเหมาะสม และ (4) การกักกันตัวในรูปแบบ Area Quarantine เป็นขั้นตอนเตรียมความพร้อมสำหรับการลดเวลากักกันตัวเป็น 10 วัน ในลำดับต่อไป

                  ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณารายละเอียดการกักกันตัวในรูปแบบ Area Quarantine และประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 6 สัปดาห์ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ต่อไป

          ข้อสังเกตที่ประชุม

          1. เห็นควรให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยการจัดทำข้อมูลและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) และชี้แจงทำความเข้าใจกับภาคเอกชนและทูตต่างประเทศในเรื่องมาตรการผ่อนคลายต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น

          2. เห็นควรพิจารณาให้ใช้การกักกันตัวในรูปแบบ Area Quarantine (10 + 4 วัน) กับคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศด้วย

          11. การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวบริเวณชายแดนเข้ารับการกักกันตัวใน Organizational Quarantine เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบจัดตั้ง Organizational Quarantine สำหรับการกักกันแรงงานต่างด้าวบริเวณชายแดนที่อยู่ในเกณฑ์ผู้เสี่ยงสูง โดยในขั้นตอนการดำเนินการให้เป็นไปตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และให้พิจารณาการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

          ข้อสังเกตที่ประชุม

          1. เห็นควรให้มีการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับสำหรับการพบผู้ติดเชื้อโควิด - 19 และให้มีการควบคุมพื้นที่ (Seal Area) กรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด - 19 แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าติดมาจากที่ใด

          2. เห็นควรให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงฤดูท่องเที่ยว (High Season) โดยให้มีการจัดสถานที่สำหรับกักกัน (Quarantine) ของนักท่องเที่ยว และมาตรการรองรับอื่นๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

          ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

          1. ให้กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจกิจกรรมและสถานประกอบการอย่างต่อเนื่องและให้มีการตรวจสอบซ้ำด้วย

          2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ ชี้แจง และทำความเข้าใจกับประชาชนให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมาย

          3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาตรวจและบริหารกิจการหรือขยายการลงทุนในประเทศ

          4. ให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มาเป็นกลุ่มใหญ่ โดยอาจกำหนดสถานที่และการกักกันตัว จำนวน 14 วัน เช่น บริเวณพื้นที่โรงแรมที่มีพื้นที่ชายหาด เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องสร้างความร่วมมือและสร้างความเข้าใจกับโรงแรมและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

          5. ให้ทุกหน่วยงานมอบหมายผู้แทนและแจ้งข้อมูลสำหรับการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อความต่อเนื่องและความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินงาน

          6. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ความสำเร็จในการดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ของประเทศไทย โดยพิจารณาได้จากผลการจัดอันดับประเทศไทย เช่น (1) การจัดอันดับดัชนีที่แสดงถึงการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากสถานการณ์ของโรคโควิด - 19 (Global COVID-19 Index (GCI)” โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับหนึ่งในโลกในด้านการฟื้นตัวจากการโควิด – 19 (2) รายงาน 2019 Global Health Security Index ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ของสหรัฐอเมริกา จัดอันดับประเทศทั้งหมดรวม 195 ประเทศ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก และอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย และได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดได้มากที่สุด เป็นต้น

          7. ให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการ Special Tourist Visa (STV) โดยคำนึงถึงนโยบายและปัจจัยภายในของประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ และไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับมิตรประเทศต่อไปในอนาคต

          8. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกันพิจารณานำนวัตกรรมหรือแอปพลิเคชันให้สามารถใช้ได้ทั้งในการติดตามตัวและตรวจสอบผู้เข้ารับการกักตัว รวมทั้งบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถตอบสนองข้อเสนอของประเทศเป้าหมายของมาตรการ Special Tourist Visa (STV)

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2563

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A11648

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!