หมวดหมู่: สภาพัฒน์ฯ สศช.

1aB30


สภาพัฒน์ จัดประชุมประจำปี 2563'ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด' เผยผลการพัฒนาครึ่งแผนฯ 12 พร้อมรับมือวิกฤตและชีวิตวิถีใหม่

     สภาพัฒน์ จัดประชุมประจำปี 2563 'ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด'เผยผลการพัฒนาครึ่งแผนฯ 12 พร้อมรับมือวิกฤตและชีวิตวิถีใหม่

       สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการประชุมประจำปี 2563 เรื่อง'ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด'ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยได้รับเกียรติจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ

       การประชุมเริ่มด้วยการนำเสนอวีดิทัศน์เรื่อง'ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด' จากนั้นศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการฯ กล่าวรายงาน ความตอนหนึ่งว่า สศช. จัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการขึ้นทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ในหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

      โดยในปีนี้ เนื่องจากเป็นระยะครึ่งทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 หรือช่วงครึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะที่หนึ่ง (พ.ศ. 2561-2565) สศช. ได้ติดตามประเมินผลการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี โดยมีการวิเคราะห์และรายงานผลการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลการพัฒนาตามตัวชี้วัดที่สำคัญต่าง ๆ ที่กำหนดในแผนฯ 12 ให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีการพัฒนาต่าง ๆจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงและบริหารจัดการภารกิจที่รับผิดชอบ ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

       ต่อมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ หลังจากนั้น เป็นการเสวนาเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และประเด็นท้าทายในระยะต่อไป โดยเลขาธิการฯ นำเสนอประเด็น ‘ครึ่งทางแผนฯ 12 เตรียมพร้อมรับมือชีวิตวิถีใหม่’ มีผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเสวนา ได้แก่ นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายอุกฤษ  อุณหเลขกะ ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม Ricult

      สำหรับ การประชุมในปีนี้ เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สศช.จึงปรับรูปแบบการประชุมให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ โดยการจัดประชุมในห้องประชุมใหญ่ครึ่งวันภาคเช้าเท่านั้น และเน้นการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คลื่นเอเอ็ม 891 กิโลเฮิร์ตซ์ เว็บไซต์ของ สศช. www.nesdc.go.th  Facebook Live ที่เพจ “สภาพัฒน์” และ YouTube สภาพัฒน์ เพื่อลดจำนวนผู้ร่วมงานตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะเดียวกันยังสามารถเผยแพร่สาระของการประชุมให้กระจายออกไปในวงกว้าง และประชาชนที่รับชมหรือรับฟังการถ่ายทอดสด สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในการเสวนาได้ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจติดตามการถ่ายทอดสดย้อนหลัง สามารถรับชมได้ทาง เพจ ‘สภาพัฒน์’และ YouTube สภาพัฒน์

       ผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะครึ่งทางแผนฯ 12 หรือช่วงครึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะที่หนึ่ง (พ.ศ.2561-2565)

       ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) ซึ่งเป็นแผนที่วางรากฐานสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาในช่วง 5 ปีแรก ของยุทธศาสตร์ชาติ โดยในระยะครึ่งทางแผนฯ 12 หรือช่วงครึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะที่หนึ่ง (พ.ศ.2561-2565) นั้น ประเทศไทยได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งบริบทโลกและบริบทในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว และการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นหรือการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวในหลายเรื่อง เช่น เทคโนโลยีพลิกโลก (Disruptive Technology)การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่อาจส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในอนาคต ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภัยธรรมชาติ

     การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อการพัฒนาประเทศในหลายด้าน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริบทโลกที่มากระทบ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและเชิงนโยบายภายในประเทศที่ส่งผลเอื้อต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติอย่างไรก็ตาม บางบริบทกลับเป็นความท้าทายหรือเป็นอุปสรรคที่ประเทศไทยจะต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้

      สำหรับ การประเมินผลการพัฒนาประเทศในระยะครึ่งทางแผนฯ 12 หรือช่วงครึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะที่หนึ่ง (พ.ศ.2561-2565) พบว่า การพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลกและสถานการณ์ภายในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการเมือง รัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ ได้มีความพยายามในการดำเนินการเพื่อผลักดันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ส่งผลให้การพัฒนาในบางมิติดีขึ้น แต่ยังคงมีการพัฒนาในบางด้านยังล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

      แนวทางการพัฒนาประเทศ ครึ่งหลังแผนฯ 12 ชีวิตวิถีใหม่ : ประเด็นท้าทายของการพัฒนาในระยะต่อไป

      จากเหตุการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วรุนแรง ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เกิดวิถีแนวใหม่ที่ทุกคนต้องปรับวิธีการในการใช้ชีวิตแบบใหม่ ที่เรียกว่า ‘วิตวิถีใหม่’ (New Normal) จึงต้องมีการปรับแนวทางการพัฒนา โดยคำนึงถึงประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) สร้างสมดุลของมนุษย์และธรรมชาติ (2) สร้างสมดุลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ในสังคม และ (3) สร้างการเติบโตอย่างพอเพียงด้วยเหตุนี้ แนวทางใหม่ของการพัฒนาประเทศช่วงหลังของแผนฯ 12 และการเชื่อมโยงไปสู่แนวทางการพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จึงประกอบด้วย  (1) ปรับจุดอ่อน เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถรองรับ New Normalลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดความยั่งยืน และ (2) เสริมจุดแข็งเดิม สร้างจุดแข็งใหม่ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น

       นอกจากนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นดังกล่าว สศช.จึงจำเป็นต้องทบทวนแนวทางการพัฒนาประเทศใหม่ เพื่อนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ตลอดจนตอบสนองชีวิตวิถีใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ควรสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้แนวคิด “Resilience” จำเป็นต้องมีการพัฒนาความสามารถของประเทศใน 3 ด้าน ดังนี้

  1. Cope หรือ ‘พร้อมรับ’ เป็นความสามารถในการต้านทาน เยียวยา และฟื้นสภาพจากวิกฤต
  2. Adapt หรือ ‘ปรับตัว’ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น
  3. Transform หรือ ‘เปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต’ ความสามารถในการพลิกโฉมหากประเทศไทยมีความสามารถทั้ง 3 ด้านจะช่วยให้เป็นประเทศที่พร้อมเผชิญสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะรวดเร็วหรือรุนแรงเพียงใดก็ตาม และสามารถที่จะก้าวเดินต่อไปด้วยความระมัดระวังและรอบคอบสู่จุดหมายการพัฒนาที่เหมาะสม มีสมดุล และยั่งยืน

ปรับแผนแม่บทรับมือวิกฤตและชีวิตวิถีใหม่  

       นอกจากนี้  ผลกระทบและวิถีการดำเนินชีวิตที่พลิกโฉมไปหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ทำให้ต้องมีการทบทวนและปรับแก้ไขแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเร็วกว่าปกติ ที่เคยกำหนดไว้ให้มีการปรับทุก ๆ 5 ปี 

       การปรับแผนแม่บทในครั้งนี้ จะปรับเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 เท่านั้น และอยู่บนพื้นฐานแนวคิด ‘Resilience’ โดยการปรับแผนแม่บทดังกล่าวจะต้องมีความสอดคล้องกับครึ่งหลังของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และต่อเนื่องไปยังแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ต่อไป และจะหยิบยกประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ต้องมีการขับเคลื่อนผลักดันหลังวิกฤตโควิด-19 มาพิจารณาจัดทำเป็นแผนแม่บทหลังสถานการณ์ โควิด-19  โดยมีการกำหนดประเด็นการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ (Priority Focus Areas) ดังนี้

  1. การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) อาทิ

      (1) การส่งเสริมการจ้างงาน (2) การช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพ SMEs และ (3) การกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังเมืองหลักและเมืองรอง

  1. การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) อาทิ (1) การส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร (2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ (3) การยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง

       (4) การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร และ (5) การปรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

  1. การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน (Human Capital) ให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ อาทิ (1) การพัฒนาทักษะแรงงานและการเรียนรู้ (2) การขยายและพัฒนาระบบหลักประกันทางสังคม และ (3) การเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ
  2. การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) อาทิ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (2) การปรับปรุงกฎหมายและส่งเสริมภาครัฐดิจิทัล (3) การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม (4) การเสริมสร้างความมั่นคงและการบริหารจัดการความเสี่ยง และ (5) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีการพัฒนา

แผนพัฒนาฯ ตอบสนองความต้องการของคนในประเทศ

      สำหรับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแผนที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในประเทศ และเป็นแผนที่ไม่ได้มองเฉพาะการแก้ปัญหาระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่มุ่งเน้นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวด้วย  อีกทั้ง สศช. ยังได้จัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจหลังวิกฤตการณ์โควิดขึ้น รวมทั้งปรับจุดเน้นของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอีก 23 ฉบับ  ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปหลังจากนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติน่าจะมีความพร้อมมากขึ้น

      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) เป็นแผนที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ  โดยในกระบวนการจัดทำแผนฯ  สศช. ได้เปิดโอกาสให้ภาคีต่าง ๆ ในระดับกลุ่มอาชีพ ระดับภาค และระดับประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งแต่ริเริ่มค้นหาปัญหาจนถึงการกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนา ทำให้แผนพัฒนาฉบับนี้ครอบคลุมยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งยังสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนฯ ตลอดจนติดตามและประเมินผลแผนฯ ด้วย ดังนั้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จึงสามารถตอบสนองความต้องการของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนและช่วยวางรากฐานการพัฒนาประเทศไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม

       แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นก้าวแรกของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาประเทศในระยะยาว  ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2561 และสิ้นสุด

      ในปี 2580 กำหนดเป้าหมายการพัฒนาในระยะที่มุ่งนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางให้เร็วที่สุด และในอีก 20 ปี เราต้องเป็นประเทศที่มีรายได้ที่มั่นคง เพียงพอต่อความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จะเชื่อมโยงกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติข้างต้น เป็นการพัฒนาในระยะ 5 ปีแรกที่จะช่วยวางรากฐานและขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสำคัญในระยะแรกของแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ

       ทั้งนี้ สศช. จะเริ่มกระบวนการวางกรอบแนวคิดและทิศทางการพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13  ซึ่งจะดำเนินการขับเคลื่อนหลายประเด็นที่ต่อเนื่องจากแผนฯ 12  มีกรอบแนวคิด ‘ล้มแล้ว ลุกไว’ ในการกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนา  และที่สำคัญแนวทางต่างๆ ที่จะกำหนดในแผนฯ 13 จะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้การพัฒนาประเทศเดินหน้าต่อไปจนบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ในที่สุด ดังนั้น การนำเสนอผลการพัฒนาที่ผ่านมา และการระดมความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นท้าทายและแนวทางการปรับตัวของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ ‘ชีวิตวิถีใหม่’ หรือ’New Norma’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!