หมวดหมู่: คลัง

MOF พรชย ฐระเวช


สศค.รายงานความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ

       นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ(National Startup Committee: NSC) (คณะกรรมการฯ) ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการฯ ประจำเดือนธันวาคม 2560 โดยมีรายละเอียด สรุปได้ ดังนี้

       1.  จำนวนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในประเทศไทย

       1.1  จำนวน Startup ที่ลงทะเบียนกับ Web Portal สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้เปิดตัวเว็บไซต์ http://startupthailand.org อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 ซึ่งปัจจุบันมีกิจการ Startup เข้าลงทะเบียนแล้วจำนวน 703 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2560)

       1.2  จำนวนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (SMEs/New Startup) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 637) พ.ศ. 2560 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของ SMEs/New Startup เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี โดย ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2560 มี SMEs/New Startup เข้ามาจดทะเบียนและยื่นขอรับการรับรองกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้วจำนวน 141 ราย ได้รับการรับรองจาก สวทช. แล้วจำนวน 49 รายและได้ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกรมสรรพากรแล้วจำนวน 32 ราย SMEs/New Startup ที่สนใจยื่นเรื่องต่อ สวทช.เพื่อพิจารณารับรองเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

      1.3  จำนวน Startup ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุน SMEs ระยะเริ่มต้น(Startup)  ผ่านการร่วมลงทุน โดยให้ธนาคารออมสินร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทย)จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนแห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมจำนวน 6,000 ล้านบาทเพื่อร่วมลงทุนกับ Startup ที่มีศักยภาพสูง หรือมีโอกาสในการเติบโตหรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งธนาคารทั้ง 3 แห่งได้มีการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนและได้อนุมัติการร่วมลงทุนใน Startup แล้ว 35 ราย วงเงินรวม 758 ล้านบาท โดยมี Startup 9 รายที่ได้มีการร่วมลงทุนแล้ว คิดเป็นเงินร่วมลงทุน 196 ล้านบาท

       2.  จำนวนกลุ่มนักลงทุนในประเทศไทย

       2.1  จำนวนกลุ่มนักลงทุนที่ลงทะเบียนกับ Web Portal ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2560 มีกลุ่มนักลงทุนเข้าลงทะเบียนบนเว็บไวต์ http://startupthailand.org แล้วจำนวน 69 ราย

      2.2  กิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) และทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity Trust: PE Trust) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 เพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลและรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมายเป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี ซึ่ง ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2560 มีผู้จดแจ้งการเป็น VC และ PE Trust กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงานก.ล.ต.) แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 27 ราย ทั้งนี้ บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนที่สนใจจดแจ้งกับสำนักงานก.ล.ต. เพื่อได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเดือนธันวาคม 2560

        1.  การขยายระยะเวลาการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริม SMEs/New Startup คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 เห็นชอบการขยายระยะเวลาการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริม SMEs/New Startup ออกไปอีก 1 ปี ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 637) พ.ศ. 2560 โดยสรุปดังนี้

      1)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 2) มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท 3) มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามหลักเกณฑ์ที่สวทช. กำหนดและได้ให้การรับรอง หรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

        2. โครงการจัดตั้ง Startup Club ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินโครงการ Startup เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้เด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษารู้จักเข้าใจ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างผู้ประกอบการตามดำริของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) โดยผลักดันโครงการดังกล่าวผ่านคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดให้เกิด Startup Club ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ซึ่งปัจจุบัน (สถานะ ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2560) มีสถาบันการศึกษาตอบรับเข้าร่วมแล้ว จำนวน 109 สถาบัน ใน 77 จังหวัดในจำนวนนี้มีสถาบันที่ได้รับแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชนในจังหวัดแล้ว 77 สถาบัน ใน 52 จังหวัด และเริ่มดำเนินกิจกรรมแล้ว 57สถาบันใน 40 จังหวัด นอกจากนี้มีแผนการดำเนินโครงการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่รับผิดชอบ Startup Club เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สามารถถ่ายทอดกระบวนการและแนวความคิดด้านการประกอบการให้แก่เด็กนักเรียนได้โดยจะจัดเป็นกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ สำหรับครูและบุคลากรที่รับผิดชอบ Startup Club ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการจัดทำหนังสือหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา

       3. โครงการ Startup Voucher ประจำปี 2560 สวทช. ได้ดำเนินโครงการ Startup Voucher เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ และส่งเสริมความเข้มแข็งให้วิสาหกิจนวัตกรรมในการต่อยอดธุรกิจโดยสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจการสนับสนุน Startup ในรูปแบบเงินทุนให้เปล่า(Grant) เป็นปีที่ 2 (ระยะเวลาโครงการ: พฤษภาคม – ธันวาคม ๒๕๖๐) โดยมีเป้าหมายสนับสนุน Startup จำนวน 80 ราย รายละไม่เกิน 800,000 บาท ซึ่งโครงการปีที่ 2 นี้ มีผู้สนใจสมัครเข้ารับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 204 ราย ผ่านการคัดเลือกจำนวน 82 ราย คิดเป็นเงินสนับสนุนประมาณ 60 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่า Startup ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจะสามารถสร้างรายได้รวมได้ไม่น้อยกว่า 80 ล้านบาท

                        อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!