หมวดหมู่: ธปท.

BOAดอน นาครทรรพ


ธปท.เผยดีมานด์ตปท.โตช่วยเศรษฐกิจไทยรองรับผลกระทบบาทแข็ง แต่แนวโน้มอ่อนค่าจากการเร่งลงทุน

        นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอบทความเรื่อง เงินบาทกับเศรษฐกิจไทย ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ทั้งการส่งออกสินค้าและรายรับจากการท่องเที่ยว แม้เศรษฐกิจในประเทศเองจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกัน แต่โดยเปรียบเทียบแล้ว ถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ช้ากว่ากันมาก จนนักเศรษฐศาสตร์บางท่านเรียกเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า เป็นเศรษฐกิจที่แข็งนอกอ่อนใน ดังนั้น หากค่าเงินที่แข็งทำให้การส่งออกสินค้าสะดุดติดขัดขึ้นมา ย่อมมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

      อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกแต่ละชนิดมีความสามารถในการรองรับค่าแข็งค่าของเงินบาทได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และความสามารถในการกำหนดราคาสินค้าในตลาดส่งออกของแต่ละสินค้า ตัวอย่างเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนของชิ้นส่วนประกอบนำเข้าสูง เงินบาทที่แข็งขึ้นช่วยให้ต้นทุนการนำเข้าในรูปเงินบาทลดลง ทำให้สุทธิแล้วไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่แข็งขึ้นมากนัก

       ขณะที่สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีสัดส่วนการนำเข้าน้อยมากหรือไม่มีเลย ไม่นับว่าผู้ส่งออกใน 3 หมวดหลังนี้มีการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนน้อยมาก รวมถึงไม่มีอำนาจต่อรองราคา

       "สินค้า 3 หมวดนี้จึงมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษกับค่าเงินบาท อย่างไรก็ดี เมื่อไปดูข้อมูล 10 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปของเงินบาทของสินค้าทั้ง 3 หมวดขยายตัว 18%  9% และ 0.2% ตามลำดับ โดยสาเหตุหนึ่งที่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวต่ำเกิดจากการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้ประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า"

       โดยสรุป ความต้องการจากต่างประเทศช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นได้ แม้กระทั่งหมวดสินค้าที่อ่อนไหวกับค่าเงินเป็นพิเศษ ในภาพรวมก็ยังไปได้ดี อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้สูงว่า หากค่าเงินบาทอ่อนกว่านี้ การส่งออกสินค้าในช่วงที่ผ่านมาจะขยายตัวได้มากกว่านี้และแม้ในกรณีที่ส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐไม่ได้เพิ่มขึ้น รายได้ของผู้ส่งออกในรูปของเงินบาทก็ยังมากขึ้น

       นายดอน กล่าวต่ออีกว่า การที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าหลายสกุลเงินสามารถอธิบายได้จากขนาดของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการหักด้วยรายจ่ายในการนำเข้าสินค้าและบริการ) ของไทยที่อยู่ในระดับที่สูง ซึ่งมาจากความสามารถในการขายสินค้าและบริการของเรา ประกอบกับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ออกมาเกินความคาดหมายของนักลงทุนต่างประเทศ

      "ทั้ง 2 ปัจจัยนำไปสู่ความต้องการแลกเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท เป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเพิ่มเติมจากปัจจัยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าซึ่งเป็นปัจจัยหลัก"

      ทั้งนี้ ขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่สูงมาก นอกจากจะสะท้อนความต้องการเงินบาทที่สูง(ผู้ประกอบการต้องเอาเงินตราต่างประเทศที่เหลือจากรายได้หักด้วยรายจ่ายมาแลกเป็นเงินบาท) ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นแล้ว ยังเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ในแง่ที่ว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง

      อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ของไทย ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี รวมกันประมาณ 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 39.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำเกือบที่สุดในภูมิภาค และเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield curve) ของไทยต่ำกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ โดยเฉพาะดอกเบี้ยรายวันไม่ได้จูงใจให้เงินไหลเข้ามามากเหมือนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยในประเทศสูง

      นายดอน กล่าวว่า การยึดกลไกตลาดไม่ได้หมายความว่า ธปท. นั่งมองเงินบาทแข็งค่าโดยไม่ได้ทำอะไรเลย ในทางตรงกันข้าม ปีนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ปัจจัยภายนอกทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง ธปท. ได้เข้าดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ สะท้อนได้จากปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจากต้นปีประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการลดการออกพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติที่เก็งกำไรค่าเงินบาทนิยมมาพักเงิน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560

     นอกจากนี้ ตลอดทั้งปี ธปท. ได้มีการให้ความรู้และกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาท รวมถึงร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ในโครงการช่วยเหลือค่าธรรมเนียมสำหรับเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าเงินให้กับ SMEs ที่เข้าคุณสมบัติ

       สำหรับ ในระยะต่อไป คาดว่าแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลง ตามแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การนำเข้าสูงขึ้น และทำให้ขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางค่าเงินบาทมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเพียงปัจจัยเสริม ผู้ประกอบการจึงควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในด้านที่มิใช่ราคา ซึ่งเป็นวิธีรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดในระยะยาว

 

กนง.-กนส.ชี้ระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ แนะจับตาปัจจัยเสี่ยงนโยบายศก.ประเทศหลัก-การชำระหนี้ SMEs

      ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.60 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินของไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

     ที่ประชุมมีความเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยได้พิจารณาใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) พัฒนาการของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีนัยต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งที่ประชุมประเมินว่าความเสี่ยงปรับลดลงจากที่เคยประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น

      อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคครัวเรือน รวมถึงภาวะอุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ และ 2) พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund: FIF) ที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีการกระจุกตัวของการลงทุนในสินทรัพย์บางประเทศ รวมถึงขนาดของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังคงขยายตัวในระดับสูงแม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับการประเมินในการประชุมครั้งที่แล้ว

     ปัจจุบัน ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารพาณิชย์และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง เสถียรภาพด้านต่างประเทศมีความเข้มแข็งสะท้อนจากฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบการเงินไทยสามารถรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินต่างประเทศที่อาจจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปได้

     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมปรับดีขึ้น แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของบางภาคธุรกิจและ SMEs ยังคงด้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ด้อยลงในบางภาคธุรกิจ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางทำเล และมีแนวโน้มที่อุปทานของพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกจะเร่งตัวขึ้นจากโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (mixed-use) ในอนาคต

     ช่วงที่ผ่านมา การก่อหนี้ของครัวเรือนโดยรวมมีแนวโน้มชะลอลงบ้าง แต่ภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้และสินทรัพย์ทางการเงินของภาคครัวเรือน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ รวมถึงผลักดันการจัดตั้งโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (คลินิกแก้หนี้) เพื่อป้องกันมิให้หนี้ภาคครัวเรือนกลายเป็นปัญหาที่จะกระทบกับเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว

    พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ยังคงมีอยู่ซึ่งนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งแม้ว่าการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในเกณฑ์ดี (investment grade) แต่กระจุกตัวสูงในบางประเทศ ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้บางรายในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ส่วนหนึ่งสะท้อนว่าผู้ลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงและมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น

     ในส่วนนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและอยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของตัวกลางเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนให้มีการลงทุนที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

     พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเงินรับฝากจะชะลอตัวลงบ้างแต่ยังอยู่ในระดับสูง และสหกรณ์ออมทรัพย์นำสภาพคล่องส่วนเกินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงที่เงินรับฝากขยายตัวสูงกว่าเงินให้กู้ยืม ที่ประชุมเห็นว่า แม้หน่วยงานที่กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ (prudential measures) ไปแล้วส่วนหนึ่ง การเร่งยกระดับกรอบกฎหมายและกระบวนการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ให้เท่าทันกับความเสี่ยงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีระบบการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาลที่ดี และสอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินงานของสหกรณ์

     ในระยะต่อไป ระบบการเงินไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของจีน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risks) รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ทั่วถึง ที่ประชุมจึงเห็นว่าต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนรายได้น้อย ภาวะอุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรม search for yield ที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องซึ่งอาจนำไปสู่การ underpricing of risks ในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงการ underpricing of risks ที่อาจเกี่ยวข้องกับการระดมทุนและการลงทุนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย

    ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแล ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้ร่วมกันประเมินและติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงและบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

                        อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!