หมวดหมู่: ประกัน

1aaaaAoie


คปภ. ขานรับการขับเคลื่อนภูเก็ตสู่ Smart City และศูนย์กลางการท่องเที่ยวตามมาตรฐานสากล ด้วยการเปิด สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ตแห่งใหม่ ช่วยดูแลการบริหารความเสี่ยงแก่นักท่องเที่ยว และให้บริการด้านประกันภัยแบบครบวงจร พร้อมเปิดศูนย์สอบนายหน้าประกันภัย ดีเดย์สิงหาคมนี้

      ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยที่จะต้องได้รับการบริการที่ดีมีประสิทธิภาพและทั่วถึง จึงได้จัดตั้ง สำนักงาน คปภ. ภาค และ สำนักงาน คปภ. จังหวัด รวมทั้งสิ้น 9 ภาค 69 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นหน่วยงานสาขาของสำนักงาน คปภ. ในการปฏิบัติงานตามพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้งในด้านการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย การคุ้มครองสิทธิประโยชน์และการให้บริการผู้เอาประกันภัยและประชาชนในพื้นที่ภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความรู้ และการเข้าถึงระบบประกันภัย เผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์กรให้คำปรึกษาแนะนำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การรับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย การให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อประสานงานและติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย

      ตลอดจนการออกและต่อใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย รวมทั้งนำยุทธศาสตร์และนโยบายของ สำนักงาน คปภ. ไปสู่การปฏิบัติตามโครงการส่งเสริมการประกันภัยเชิงรุก เช่น โครงการยุวชนประกันภัย โครงการอาสาสมัครประกันภัย การเผยแพร่ความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและช่องทางต่างๆในพื้นที่ที่ สำนักงาน คปภ. ภูมิภาครับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยและตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยสามารถใช้การประกันภัยบริหารความเสี่ยงของตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม

     สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ต อยู่ในการกำกับการดูแลของ สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (จังหวัดสงขลา) เดิมใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตเป็นที่ทำการ แต่เพื่อให้เกิดความคล่องตัว เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและเพื่อให้ สำนักงาน คปภ. จังหวัด มีพื้นที่ทำการที่เหมาะสม ประกอบกับสำนักงาน คปภ. พิจารณาเห็นว่าจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ จึงได้ย้ายที่ตั้ง สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ตมายังที่ทำการแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่อาคารเลขที่ 1/3 ถนนหลวงพ่อ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากขึ้น มีที่ตั้งที่สะดวก และมีการให้บริการแบบครบวงจร โดยมีภารกิจหลักในการกำกับธุรกิจประกันภัย การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย โดยมีบริษัทประกันภัยให้บริการในพื้นที่ ประกอบด้วย บริษัทประกันชีวิต 11 บริษัท และบริษัทประกันวินาศภัย 33 สาขา

     ในส่วนของอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิต พบว่า จังหวัดภูเก็ตมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ โดยมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรอยู่ที่ร้อยละ 51.37 อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันวินาศภัยต่อประชากรอยู่ที่ร้อยละ 103.61 โดยจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย อยู่ที่ 6,769 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 17.94 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยรับรวมโดยตรงของ 9 จังหวัดในภาคใต้ที่มีจำนวนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมอยู่ที่ 37,736 ล้านบาท ซึ่งถือว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีประชาชนให้ความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญในการนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเป็นจำนวนมาก

       “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ที่ทำการแห่งใหม่ของ สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ต แห่งนี้จะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับความบริการที่ดี ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและความอบอุ่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการด้านประกันภัย รวมทั้งพนักงานผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน คปภ.จังหวัดภูเก็ตทุกคนจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามนโยบายของสำนักงาน คปภ. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการให้บริการประชาชน ทั้งในด้านของการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยที่ถูกต้อง รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยเพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม อันจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และศรัทธาในระบบประกันภัยต่อไป ทั้งนี้อุบัติเหตุกรณีเรือโดยสารท่องเที่ยวล่ม เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตถึง 47 คน ระบบประกันภัยเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการเยียวยาความเสียหายให้กับทายาทนักท่องเที่ยวที่บาดเจ็บ และเสียชีวิต โดยสำนักงานคปภ.จังหวัดภูเก็ตได้มีบทบาทที่สำคัญในการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จนทำให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรมอีกด้วย”

     นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ตจะให้บริการเป็นศูนย์สอบใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยแห่งใหม่ ซึ่งจะเริ่มเปิดบริการในเดือนสิงหาคมนี้ ทำให้เกิดความสะดวก ซึ่งเดิมต้องไปสอบที่สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (จังหวัดสงขลา) ทั้งนี้จะมีการใช้ระบบ QR Code เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการในการชำระค่าธรรมเนียมการขอรับ ขอต่อใบอนุญาตบุคคลธรรมดา นิติบุคคล แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว รวมทั้งจะช่วยกำกับดูแลการขายประกันภัยออนไลน์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัยอีกด้วย

       ด้านนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ขอขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่ให้ความสำคัญในการนำระบบประกันภัย เข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอย่างครบวงจร ทั้งนี้จากแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2561 - 2564 มีเป้าหมายการพัฒนา ด้วยวิสัยทัศน์ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรมบริการ ในระดับนานาชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ที่มีการบริหาร การจัดการที่ได้มาตรฐานสากล การเพิ่มการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติ เป็นศูนย์กลางระดับนานาชาติในการพัฒนาคน และสังคมแห่งการเรียนรู้ เน้นการพัฒนาเมืองให้เติบโตด้วย นวัตกรรม บริการสู่ความเป็นเมืองที่มีความเจริญ ทั้งการพัฒนาบริการในระบบคมนาคม และโลจิสติกส์ มีการเชื่อมโยงในการเดินทาง ทั้งทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ และทางราง พัฒนาชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้บนพื้นฐานของหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

       ดังนั้น การเปิด สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ตแห่งใหม่นี้ จะทำให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรม รวมทั้งจะสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยหากประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุเรือนักท่องเที่ยวล่มเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านต้องขอชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ สำนักงาน คปภ.ภาค9 และสำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ตที่ได้ประสานงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วนภายในจังหวัดภูเก็ตอย่างใกล้ชิด จนภารกิจสำเร็จลุล่วง สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม จึงขอขอบคุณ สำนักงาน คปภ. มา ณ โอกาสนี้ด้วย

       สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ กลุ่มงานสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012

 

คปภ.สุ่มตรวจธนาคารขายประกันภัยหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ต

      พร้อมประชุมมอบนโยบายแก่ชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตเพื่อทำความเข้าใจกติกาที่ปรับปรุงใหม่เรื่องการเสนอขายประกันภัย ที่จะเริ่มบังคับใช้ต้นปีหน้า แต่ยังไม่เปิดช่องให้พนักงานธนาคารเคาะประตูบ้านขายประกัน ย้ำขายพ่วงประกันโดยลูกค้าไม่สมัครใจทำไม่ได้

      ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ตนพร้อมคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. จากส่วนกลางได้สนธิกำลังร่วมกับผู้อำนวยการ คปภ. ภาค 9 (สงขลา) ผู้อำนวยการ สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ต และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพื่อสุ่มตรวจธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งอยู่บริเวณตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตว่ามีการปฏิบัติตามประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยและการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตและธนาคาร พ.ศ.2551

     และประกาศ คปภ.เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัยและธนาคาร พ.ศ.2552 ครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งพบว่าในภาพรวมมีการปรับปรุงที่ดีขึ้นตามข้อแนะนำของ สำนักงาน คปภ. แต่ยังมีในส่วนรายละเอียดที่จะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม เช่น บางธนาคารยังมีการติดป้ายคู่มือประชาชนในการซื้อประกันภัยผ่านทางธนาคารพาณิชย์ หรือ บัญญัติ 12 ประการ เพื่อการซื้อประกันภัยผ่านธนาคารในที่ที่ประชาชนสังเกตเห็นได้ยาก           

      แบบฟอร์มใบสมัครบัตรเดบิตแบบที่พ่วงประกันมิได้ระบุให้ชัดเจนว่ารับประกันภัยโดยบริษัทประกันภัยใด ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตแบบที่พ่วงประกันยังไม่ได้แยกให้ทราบว่าค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเท่าใด จึงแนะนำให้รีบปรับปรุงและในการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยหรือผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ที่พ่วงประกันภัยทุกครั้งให้อธิบายลูกค้าทราบชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยและให้ลูกค้าเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ประกันภัยและผลิตภัณฑ์ของธนาคาร รวมทั้งการซื้อประกันภัยของลูกค้าต้องเป็นไปตามความสมัครใจ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการเอาเปรียบประชาชนอันจะนำไปสู่การร้องเรียนในภายหลัง

      ในการสุ่มตรวจการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตครั้งนี้นอกจากจะเป็นการตรวจติดตามให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามกฎกติกาของ สำนักงาน คปภ. แล้วยังได้มีการทำความเข้าใจกับพนักงานของธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในประเด็นที่สำนักงาน คปภ.ยังไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ไปเคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย กรณีที่กฎกติกาของ คปภ. ยังไม่อนุญาตให้พนักงานของธนาคารพาณิชย์ไปเสนอขายประกันภัยถึงประตูบ้านของประชาชน ซึ่งได้รับข้อมูลว่าธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยในรูปแบบดังกล่าวแต่อย่างใด

       ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยของประชาชนผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์และเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยจึงได้จัดทำคู่มือประชาชนในการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านทางธนาคารพาณิชย์โดยมีข้อปฏิบัติไว้ 12 ข้อ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th

      เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากการสุ่มตรวจธนาคารพาณิชย์ ในการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยในพื้นที่ภูเก็ตเสร็จสิ้นแล้ว ตนได้เป็นประธานประชุมกับชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตเพื่อมอบนโยบายการกำกับดูแลการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง การกำกับดูแลการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคารภายใต้กติกาใหม่ โดยมีพนักงานและผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกของชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมงานกว่า 200 คน ณ โรงแรมดารา จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านตรวจสอบ และนายอรรถพล พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย ร่วมประชุมและบรรยายให้ความรู้ด้วย

      โดยเลขาธิการ คปภ.กล่าวในตอนหนึ่งว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้นั้นจำเป็นจะต้องมีการสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจกับธนาคารพาณิชย์และเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่เสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างตรงไปตรงมาและต้องแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าเป็นการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมทั้งต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เสนอขายนั้นมีค่าเบี้ยประกันประกันภัยจำนวนเท่าไรได้รับความคุ้มครองอย่างไรและจะมีการเก็บค่าเบี้ยประกันภัยลักษณะไหนมีบริษัทประกันภัยรายใดเป็นผู้รับประกันภัย และที่สำคัญการทำประกันภัยของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นไปโดยความสมัครใจห้ามมิให้มีการบังคับหรือใช้เป็นเงื่อนไขรายการต่อรองการให้สินเชื่อหรือธุรกรรมอื่นใดของธนาคารพาณิชย์  

      สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ กลุ่มงานสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!