หมวดหมู่: เกษตร

AGRIลกษณ วจนานวช


ก.เกษตรฯ เร่งดำเนินโครงการแปรรูปสับปะรดสดเป็นอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาล้นตลาด-ราคาตกต่ำ

     นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดงาน "โครงการแปรรูปผลสับปะรดสดเป็นอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด" ณ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คอ่าวน้อย จำกัด ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินโครงการแปรรูปผลสับปะรดสดเป็นอาหารสัตว์เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำผลสับปะรดสดมาแปรรูปเป็นอาหารทีเอ็มอาร์ โปรตีน 16% สำหรับใช้เลี้ยงโคนม เนื่องจากมีผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากถึง 2.24 ล้านตัน แต่ความต้องการสับปะรดเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศและส่งออกมีไม่เกิน 2 ล้านตัน จึงเกิดปัญหาสับปะรดล้นตลาด ทำให้ราคาสับปะรดตกต่ำ

       นอกจากนี้ ยังมีสับปะรดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีขนาดผลเล็ก โรงงานสับปะรดไม่รับซื้ออีกจำนวน 0.23 ล้านตัน ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และลำปาง ซึ่งการนำสับปะรดมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

      ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดข้างต้น โดยการนำสับปะรดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงงานมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งโครงการนำร่องนั้น มีสับปะรดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงงาน จำนวน 238,648 ตัน (20%) ซึ่งในส่วนดังกล่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าจะสามารถช่วยนำมาผลิตอาหารสัตว์ได้ประมาณ 20% หรือ 47,729 ตัน โดยให้สหกรณ์โคนมในพื้นที่รับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อผลิตอาหารทีเอ็มอาร์และจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ

      ทั้งนี้ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากงบพัฒนาสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 4 ล้านบาท เพื่อนำมาผลิตอาหารทีเอ็มอาร์ จำนวน 1,000 ตัน (โครงการนำร่องฯ) โดยใช้ผลสับปะรดสด 710 ตัน ฟางข้าว 140 ตัน กากถั่วเหลือง 66.50 ตัน กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมัน 80 ตัน และปุ๋ยยูเรีย 3.50 ตัน จำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคากิโลกรัมละ 3.90 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง) ใช้เลี้ยงโคนมได้จำนวน 500 ตัว ในระยะเวลา 60 วัน ได้ผลผลิตน้ำนมดิบ จำนวน 500 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9 ล้านบาท ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนี้ เมื่อหักเงินกู้แล้วคิดเป็นมูลค่า 5 ล้านบาท

     "การดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ได้ช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรด อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาสับปะรด จะต้องมีมาตรการแนวทางการบริหารจัดการสับปะรด ทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการแปรรูป ซึ่งต้องอาศัยการสร้างกลไกเชื่อมโยงการตลาดในทุกภาคส่วน อีกทั้งยังต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสับปะรดที่ได้คุณภาพ และการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาสับปะรดได้อย่างยั่งยืนต่อไป" นายลักษณ์ กล่าว

      ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงโคนมของเกษตรกรด้วยสับปะรดกับฟางข้าวเสริมอาหารข้นนั้น จะมีต้นทุนค่าอาหารตัวละ 102.50 บาท ให้น้ำนมวันละ 12 กิโลกรัม คิดเป็นต้นทุนค่าอาหาร 8.54 บาทต่อน้ำนม 1 กิโลกรัม ถ้าเลี้ยงด้วยอาหารทีเอ็มอาร์ที่มีสับปะรดกับฟางข้าว จะมีต้นทุนตัวละ 117 บาท ให้น้ำนมวันละ 14 กิโลกรัม มีต้นทุนค่าอาหาร 8.35 บาทต่อน้ำนม 1 กิโลกรัม จะสามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้ 0.20 บาทต่อน้ำนม 1 กิโลกรัม

            อินโฟเควส

ก.เกษตรฯ หวังใช้กลไกงานวิจัยพัฒนาภาคการเกษตรสู่เกษตร 4.0 อย่างครบวงจรใน 20 ปีข้างหน้า

       นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมวิชาการกรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด "เกษตรก้าวไกลด้วยนวัตกรรม สู่ตลาดนำการผลิต" ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพราะเชื่อมั่นว่างานวิจัยคือกลไกสำคัญของการพัฒนาการเกษตรของประเทศให้ก้าวหน้าจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันและจะก้าวต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันการทำงานวิจัยจำเป็นต้องมีเป้าหมาย โดยเฉพาะภาคการเกษตรด้านพืชที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ อีกทั้งยังต้องยกระดับคุณภาพผลผลิตและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคของการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรมีคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีตลาดรองรับตามกรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0

      ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะพัฒนาเกษตร 4.0 อย่างครบวงจร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

      ด้านนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตร มีภารกิจในการทำการวิจัยและพัฒนาด้านพืชและเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งมีกฎหมายในความรับผิดชอบที่ครอบคลุมปัจจัยการผลิต การนำเข้า-ส่งออกสินค้าพืช และการคุ้มครองพันธุ์พืช จึงเป็นความคาดหวังของผู้เกี่ยวข้องที่อยากเห็นผลงานในลักษณะที่นักวิจัยจะต้องเป็นนักคิดนักสร้างสรรค์ที่มีความรอบรู้ โดยการศึกษาเพื่อสร้างโจทย์วิจัยพร้อมกระบวนการปฏิบัติงานวิจัย ซึ่งต้องมีเป้าหมายในการนำผลงานวิจัยไปขับเคลื่อนการผลิตภาคการเกษตรสมัยใหม่ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมหรือชุมชนให้นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน และสามารถนำไปแก้ปัญหาในกระบวนการผลิตพืชตลอดห่วงโซ่อาหาร ที่จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพได้

     ทั้งนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมามีผลงานวิจัยที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จำนวน 13 ผลงาน แบ่งออกเป็น 6 ประภท ได้แก่ งานวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยประยุกต์ งานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ งานพัฒนางานวิจัย งานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้น และงานบริการวิชาการ นอกจากนี้ ยังมีภารกิจที่สำคัญด้านการตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรด้านพืช จึงได้จัดให้มีการมอบรางวัลให้แก่เกษตรกรดีเด่นสาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ประจำปี 2561 และเกษตรกรดีเด่นสาขาการผลิตพืชอินทรีย์ดีเด่น รวมทั้งผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรดีเด่นสาขาระบบการผลิตตามหลักปฏิบัติที่ดี (GMP) และระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) ด้วย

              อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!