หมวดหมู่: คมนาคม

Aอาคม


คมนาคม วอนรถร่วม-รถขนส่งสินค้าชะลอปรับขึ้นค่าโดยสาร-ค่าขนส่งแม้น้ำมันแพง

        กระทรวงคมนาคม ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งรถสาธารณะและรถขนส่งสินค้าไม่ปรับขึ้นราคาค่าโดยสารและค่าขนส่ง หลังจากสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง หรือรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะยื่นหนังสือขอให้พิจารณาปรับค่าโดยสาร และปัญหาหนี้สินค้างชำระกับ ขสมก. รวมถึงสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสานเรียกร้องการปรับขึ้นค่าขนส่งเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

        ทั้งนี้ รมว.คมนาคม มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประสานงานกับผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะและผู้ประกอบการขนส่งสินค้า เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งสองภาคส่วนแล้ว ได้รับการยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารและค่าขนส่งแต่อย่างใด

       โดยในส่วนของการพิจารณาอัตราค่าโดยสารของรถร่วม ขสมก. นั้น ขบ. อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการเดินรถโดยสาร ซึ่งต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ครอบคลุมทุกปัจจัยทั้งระบบ โดยให้ ขบ. พิจารณามาตรการ แนวทาง แก้ไขปัญหา เพื่อนำเสนอประกอบการพิจารณาเชิงนโยบาย รวมถึงการศึกษาโครงสร้างต้นทุนอัตราค่าโดยสาร เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในทุกประเด็น พิจารณาประกอบกับมาตรการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับแผนฟื้นฟู ขสมก. รวมถึงแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งต้องคำนึงผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการให้บริการ สร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจ และเกิดความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ

       สำหรับ การศึกษาโครงสร้างต้นทุนอัตราค่าโดยสารดังกล่าว จะเร่งรัดให้ ขบ. ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.61 เพื่อวิเคราะห์และเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ประกาศกำหนดเป็นโครงสร้างราคาใหม่ที่เหมาะสมเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

         ส่วนกรณีที่สมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน ซึ่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เรียกร้องปรับค่าขนส่ง ขบ. ได้หารือร่วมกับสหพันธ์ฯ ให้ชะลอการปรับอัตราค่าขนส่งไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในภาพรวม โดยให้สหพันธ์ฯ ติดตามมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ และจัดทำข้อมูลเสนอกรมการขนส่งทางบกและกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป

ขสมก.ประกาศตรึงราคาค่าโดยสาร แม้ราคาน้ำมันสูงขึ้นหวั่นประชาชนเดือดร้อน

      องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประกาศยังไม่ปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถทุกประเภทหลังสถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเกรงว่าประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับความเดือดร้อน และส่งผลกระทบต่อต้นทุนระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

      นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งขณะนี้มีกระแสข่าวว่าสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถเอกชนร่วมบริการ ขสมก.) เตรียมปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร เพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ในส่วนของ ขสมก.ยังไม่มีนโยบายที่จะปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถทุกประเภทแต่อย่างใด เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อนจากการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารดังกล่าว

      ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างต้นทุนอัตราค่าโดยสาร เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในทุกประเด็นปัจจัย ซึ่งสอดคล้องกับแผนฟื้นฟูกิจการองค์การ และแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

      นายประยูร กล่าวว่า ขสมก.มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพบริการรถโดยสารประจำทางให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจสูงสุด และเห็นว่าอัตราค่าโดยสารใหม่มีความเหมาะสม ก่อนนำเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ประกาศกำหนดเป็นโครงสร้างราคาใหม่ที่มีความเหมาะสมต่อไป

                        อินโฟเควสท์

10 ล้ออ้างน้ำมันขอขึ้นค่าขนส่ง คมนาคมเบรก!ให้ชะลอไปก่อน

       แนวหน้า : นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากปรับตัว ของราคาน้ำมันดีเซลใกล้ 30 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านพลังงานที่สูงจนเกินไป และที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งมาเกิน 10 ปีแล้ว ซึ่งปัญหาการขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลนั้นกระทบต่อภาคการขนส่งสินค้าอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลจะรวมค่าขนส่งและภาษีท้องถิ่นด้วยทำให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นต้องแบกรับภาระต้นทุนมากกว่าเดิม

      นอกจากจะพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นราคาแล้วยังต้องการเสนอให้รัฐบาลนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อนำออกมาพยุงราคาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการควบคู่ไปกับการทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อ ไม่ให้กระทบกับภาพรวมการขนส่ง

       ก่อนหน้านี้ ได้มีการประชุมหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าให้เตรียมเรื่องเสนอไปยัง กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้าผ่านรถบรรทุก 5%

      อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ผู้ประกอบการมอง ว่าราคาดีเซลที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร และมองว่าการปรับขึ้นราคาในครั้งนี้จะไม่กระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคและวัตถุดิบการก่อสร้างเนื่องจากเป็นสัดส่วนที่ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนรวม เนื่องจากเมื่อนำมาคิดราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัมแล้วอยู่ที่ราว 0.0014 บาท จึงแน่ใจว่าผู้ประกอบการและผู้ขายสินค้าจะไม่สามารถนำเหตุผลดังกล่าวมาอ้างใช้ในการขึ้นราคาสินค้าได้

      นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มีการแจ้งไปยังสมาคมและสหพันธ์ต่างๆให้ชะลอในเรื่องของการปรับอัตราค่าขนส่ง พร้อมให้มีการพิจารณาผลกระทบในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ กรมการค้าภายใน ยืนยันว่าในช่วงนี้ยังไม่มีการขยับปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งในส่วนของการศึกษาโครงสร้างราคาอัตราค่าโดยสารนั้น คาดว่าจะเห็นภาพในส่วนของปัจจัยต่างๆ ได้อีกประมาณ 2-3 เดือน เพราะไม่ได้ มีการพิจารณาแค่ปัจจัยด้านพลังงานเชื้อเพลิงอย่างเดียวแต่จะต้องพิจารณาในทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างต้นทุนด้วย

         "ภาคการขนส่งเป็นลักษณะที่ทางสหพันธ์ดำเนินการขนส่งที่เป็นวัสดุสินค้าหลัก มีลักษณะสัญญาผูกพันกันเป็นการขนส่งตลอดทั้งปี การขนส่งล่วงหน้าก็ยังใช้สัญญาเดิมอัตราการขนส่งเดิม ส่วนภาครถโดยสารสาธารณะกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการศึกษา วิเคราะห์โครงสร้างทุกปัจจัยให้ครอบคลุมทุกด้านเพราะฉะนั้นจะต้องรอผลการศึกษาก่อน และทางกระทรวงคมนาคมก็ได้แจ้งในเชิงนโยบายไปแล้วว่าในช่วงนี้ก็ให้ชะลอการขึ้นอัตราค่าโดยสารไปก่อน" นายสนิท กล่าว

       ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาค่าโดยสารจะต้องมีการรับนโยบายจากทางกระทรวงคมนาคมก่อน และการกำหนดอัตราค่าโดยสารจะต้องได้การเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง ทางบกกลาง ทางภาคผู้ประกอบการจึง ไม่สามารถดำเนินการปรับขึ้นราคาอย่างอิสระได้ ซึ่งการที่จะเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้จะต้องมีข้อมูลการเปรียบเทียบ การวิเคราะห์ อัตราการคำนวณ โดยใช้โครงสร้างจากที่ปรึกษาเพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อไป

เจ๊เกียว บุกคมนาคม ขอปรับขึ้นค่าโดยสารเพิ่มหลังราคาน้ำมันพุ่ง แบกรับต้นทุนไม่ไหว อาคมให้รอผลศึกษาโครงสร้างต้นทุนก่อน

       นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร ได้ขอเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม พร้อมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเรื่องอัตราค่าโดยสาร เพื่อขอปรับขึ้นค่าโดยสาร 10 สตางค์ต่อกิโลเมตร เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ และไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากนัก โดยนางสุจินดากล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2561 อยู่ที่ 29.79 บาทต่อลิตร ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนต่อไปได้ จึงมาเรียกร้องต่อกระทรวงคมนาคม หากไม่ได้รับการพิจารณา ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลดเที่ยววิ่งลงในบางส่วน

      อนึ่ง คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้มีมติปรับลดอัตราค่าโดยสารลง 3 สตางค์ต่อกม. มีผลเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2559 ขณะนั้นราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 19.69 บาทต่อลิตร แต่หลังจากนั้นมาน้ำมันดีเซลได้ปรับในทิศทางขาขึ้นมาตลอด ถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 29.79 บาทต่อลิตร หรือขึ้นมาถึง 10.10 บาทต่อลิตร การขอปรับค่าโดยสารเพื่อความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ซึ่งไม่ได้ปรับราคามาแล้วเกือบ 3 ปี ซึ่งปริมาณน้ำมัน 1 ลิตร รถโดยสารสามารถวิ่งได้ประมาณ 3 กม.

       ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้เรียกร้องจากภาครัฐให้ช่วยเหลือ แต่กรมขนส่งทางบก ให้รอการศึกษาโครงสร้างต้นทุนก่อนซึ่งไม่มีความคืบหน้า ซึ่งกระทรวงคมนาคมยังคงให้เอกชนรอต่อไป ดังนั้นหลังจากนี้ จะเรียกประชุมสมาชิกสมาคม และสรุปแนวทาง จากนั้นจะยื่นหนังสือขอความช่วยเหลืออีกครั้ง เช่น เรื่องค่าธรรมเนียมที่ บขส.เรียกเก็บ และการลดเที่ยววิ่ง เป็นต้น

     โดยรถทั้งหมดกว่า 1 หมื่นคัน ส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซล มีไม่ถึง 5% ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ปัจจุบัน ผู้โดยสารน้อยลงเพราะมีทั้งสายการบินต้นทุนต่ำและรถตู้เข้ามาแข่งขัน จึงทำให้ผู้ประกอบการประมาณ 30% ต้องเลิกวิ่งเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว เพราะนอกจากต้นทุนค่าน้ำมัน แล้ว เอกชนยังมีค่าดำเนินการอื่นๆ รวมถึงค่าธรรมเนียมที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เรียกเก็บจากการวิ่งรถแต่ละเที่ยวอีก โดยเก็บ 1 ที่นั่งต่อเที่ยว ส่วนรถสองชั้นจะเก็บที่ 1.5 ที่นั่งต่อเที่ยว

      ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงได้รับข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ แต่ยังไม่มีอนุมัติเรื่องปรับค่าโดยสารเนื่องจากต้องรอผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนใหม่ก่อน ซึ่งจะศึกษาจบในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการศึกษาจะทราบว่าโครงสร้างต้นทุนมีอะไร และจะมีกติกาในการปรับปรุงบริการและค่าโดยสารอย่างไร เพื่อเป็นกลไกที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเป็นธรรม

        การพิจารณาจะต้องมีข้อมูลจากการศึกษาก่อน อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานมีกลไกจากกองทุนน้ำมัน ในการควบคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งทำมาตลอด 30 ปี ขณะเดียวกัน จะมีการส่งเสริมให้การขนส่งหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 20 มากกว่า ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าน้ำมันดีเซลประมาณ 3 บาทต่อลิตร ซึ่งร่วมกันบมจ. ปตท.(PTT) เริ่มดำเนินการได้ในเดือนมิ.ย.นี้ ดังนั้นหากผู้ประกอบการขนส่งจะลดต้นทุนได้แน่นอน

                        อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!