หมวดหมู่: พาณิชย์

MOCอดลย โชตนสากรณ copy


รมว.พาณิชย์ สั่งเกาะติดสถานการณ์เหล็กใกล้ชิดหลังสหรัฐฯประกาศใช้มาตรการการค้า เตรียมเจรจาขอยกเว้นเป็นรายพิกัดสินค้า

    นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากการที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการทางการค้าที่นำเข้าจากทั่วโลก ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 มาตรา 232 โดยเรียกเก็บอากรกับสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม ในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ติดตามและศึกษาผลกระทบอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมแผนการเพื่อเจรจากับรัฐบาลของสหรัฐฯ ในการขอยกเว้นการใช้มาตรการดังกล่าวกับประเทศไทย

      อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามสถานการณ์การค้าเหล็กอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าที่ถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการ ซึ่งหากพบว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน ก็ให้พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาตามที่กฎหมายมีบังคับใช้อยู่ต่อไป ซึ่งปัจจุบันไทยมีการใช้มาตรการทั้งตอบโต้การทุ่มตลาด และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นกับสินค้าเหล็กหลายรายการ และอาจจะมีการใช้เพิ่มขึ้นหากเกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม

     ทั้งนี้ ไทยจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าวโดยการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอยกเว้นการใช้มาตรการ 232 ทั้งเป็นรายประเทศและเป็นรายพิกัดสินค้า ซึ่งในการขอยกเว้นรายประเทศ จะใช้เวทีเจรจาในการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement : TIFA) ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ เป็นเวทีหารือกับสหรัฐฯ เพื่อยกเว้นการใช้มาตรการ 232 กับไทย ส่วนการขอยกเว้นเป็นรายพิกัดสินค้ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการดำเนินการขอยกเว้นเป็นรายพิกัด ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2561 นี้ ซึ่งในการยื่นเพื่อขอยกเว้น ภาครัฐจะร่วมกับภาคเอกชนไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดเตรียมข้อมูลในการดำเนินการต่อไป

             อินโฟเควสท์

พาณิชย์ แจงใช้มาตรการ AC ไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการ AD ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

    นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ชี้แจงกรณีผู้นำเข้าเหล็กคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD) ฉบับใหม่ เนื่องจากเห็นว่าการแก้กฎหมายใหม่ให้มีมาตรการ Anti-Circumvention (AC) เป็นการให้การปกป้องผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศที่ซ้ำซ้อนกับมาตรการ AD ซึ่งเกินความจำเป็น ทำให้อุตสาหกรรมภายในไม่พัฒนา อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการยึดอายัดเพื่อตรวจสอบสินค้านำเข้าที่สงสัยว่าได้หลบเลี่ยงมาตรการ AD ซึ่งเป็นภาระและค่าใช้จ่ายแก่ผู้นำเข้าอย่างมาก

        อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การใช้มาตรการ AC ไม่ใช่เป็นการปกป้องที่ซ้ำซ้อนกับมาตรการ AD เนื่องจากเป็นการขยายมาตรการ AD ไปยังสินค้าที่หลบเลี่ยงฯ โดยปัจจุบันมีการหลบเลี่ยงมาตรการ AD ทำให้มาตรการที่ใช้บังคับไม่มีผลในการเยียวยาอุตสาหกรรมภายในตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้มาตรการ AC จะช่วยให้อุตสาหกรรมภายในได้รับความเป็นธรรมทางการค้าและแข่งขันได้ มิได้มีเจตนาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งแต่อย่างใด

      สำหรับ ประเด็นที่ผู้นำเข้ากังวลว่ากฎหมายใหม่นี้จะให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการยึดอายัดเพื่อตรวจสอบสินค้านำเข้าที่สงสัยว่าได้หลบเลี่ยงมาตรการ AD ซึ่งจะเป็นภาระและทำให้ผู้นำเข้ามีค่าใช้จ่ายอย่างมากนั้นเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการแก้กฎหมาย กำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจในการกักของ ยึดหรืออายัดสินค้าได้ต่อเมื่อผู้นำเข้าค้างชำระค่าอากร AD ไม่ใช่เป็นการให้กรมศุลกากรยึดหรืออายัดสินค้าเพื่อตรวจสอบการหลบเลี่ยงมาตรการ AD ตามที่ผู้นำเข้าเข้าใจแต่อย่างใด

      นอกจากนี้ ตามที่ผู้นำเข้าเหล็กเสนอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลตรวจสอบความสามารถในการผลิตสินค้าของอุตสาหกรรมภายในว่า ผลิตได้ตามคุณภาพและปริมาณความต้องการในประเทศของผู้ใช้จริงหรือไม่นั้น นายอดุลย์ กล่าวว่า ในกระบวนการไต่สวน AD ได้มีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบอยู่แล้ว ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) จะมีการพิจารณาวินิจฉัยว่าจะใช้มาตรการ AD หรือไม่ อย่างไร

     ในการดำเนินการไต่สวนการหลบเลี่ยงตามกฎหมายใหม่จะมีการกำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและโปร่งใส โดยผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนสามารถแสดงความคิดเห็นในขั้นตอนการไต่สวนได้ และมีการพิจารณาถึงประโยชน์สาธารณะ ซึ่งแนวทางการแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินี้ได้มีการศึกษากฎหมายของประเทศสมาชิก WTO ต่างๆ ที่มีประสบการณ์ในการใช้มาตรการ AC และปรับให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยด้วย" นายอดุลย์ กล่าว

         อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!