หมวดหมู่: ธปท.

BOAดอน นาครทรรพ


ธปท.เผย GDP Q4/60 โตต่ำกว่าคาด หลังการใช้จ่ายภาครัฐยังแผ่ว ส่วนทั้งปีใกล้เคียงประมาณการ

    นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัว 4.0% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือ 0.5% จากไตรมาสก่อน ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 4.4% ในรอบเดือนธันวาคม 2560 จากการใช้จ่ายภาครัฐที่น้อยกว่าคาดเป็นสำคัญ

     ทั้งนี้ เศรษฐกิจทั้งปี 2560 ขยายตัวได้ 3.9% ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยเศรษฐกิจได้รับแรงสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ต่างประเทศ

     สำหรับ ปี 2561 ประเมินว่าอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังดีต่อเนื่องและการใช้จ่ายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป

     อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการกระจายตัวของกำลังซื้อในประเทศ

               อินโฟเควสท์

สภาพัฒน์ เผย GDP ปี 60 ขยายตัว 3.9% คงคาดการณ์ปี 61 โต 3.6-4.6%

      สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยเศรษฐกิจไทยปี 60 ขยายตัว 3.9% จากปี 59 ที่ขยายตัว 3.3% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 9.7% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 3.2% และ 0.9% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ 0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.8% ของ GDP

        ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 61 คาดว่าจะขยายตัว 3.6-4.6% ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัว 6.8% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมจะขยายตัว 3.2% และ 5.5% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 7.8% ของ GDP โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลก, แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาครัฐที่จะเร่งตัวขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ, การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน, แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ และ การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ

        อินโฟเควสท์

สภาพัฒน์ฯคงจีดีพีปี 61 โต 3.6-4.6% จากปี 60 โต 3.9% จากแรงหนุนการส่งออก ลงทุนภาครัฐ -เอกชน

            สศช. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.6-4.6% จากปีก่อนขยายตัว 3.6% จากแรงหนุนภาคการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 6.8% และการลงทุนภาครัฐที่คาดขยายตัว 10% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดขยายตัว 3.7% พร้อมประเมินค่าเงินบาทปีนี้เฉลี่ยที่ 31.5-32.5 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากปีก่อน

       นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2561 ขยายตัว 3.6-4.6% จากปี 2560 ที่ขยายตัว 3.9% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวขึ้นของเศรษฐกิจโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังขยายตัวดี และการลงทุนภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวชัดเจนของการลงทุนภาคเอกชน

               ในปี 2561 สศช. คาดว่าการลงทุนโดยรวมจะขยายตัวได้ 5.5% แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชนที่ 3.7% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ขยายตัว 1.7% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 10% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่หดตัว 1.2% ขณะที่การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 6.8% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 5% แต่ลดลงจากปี 2560 ที่ขยายตัว 9.7% ด้านนำเข้าในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 9.5% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 7% แต่ลดลงจากปี 2560 ที่การนำเข้าขยายตัว 14.4%

     สำหรับ ดุลการค้าในปี 2561 คาดว่าจะเกินดุล 28.5 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากปี 2560 ที่เกินดุล 31.9 พันล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2561 คาดว่าจะเกินดุล 40 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากปี 2560 ที่เกินดุล 49.3 พันล้านดอลลาร์ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.9-1.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 0.7%

               ด้านค่าเงินบาทในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 31.5-32.5 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่อยู่ที่ 33.93 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 55-65 ดอลลาร์ต่อบาเรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 53 ดอลลาร์ต่อบาเรล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตามการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค่า เช่น สหรัฐ ยุโรป และจีน การขยายความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก และกลุ่ม นอนโอเปก จากเดือนมีนาคมปีนี้ ถึงสิ้นปี 2561 และปัจจัยทางการเมืองส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต เช่น การปราบปรามการคอร์รัปชั่นในซาอุดิอาระเบีย และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์บนคาบสมุทรเกาหลีและประเทศในตะวันออกกลาง

               นายปรเมธี กล่าวว่า ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 4/2560 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 4% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 4.3% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ เอกชน และการส่งออกเป็นสำคัญ โดยในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาการส่งออกขยายตัวได้ 11.6% และการนำเข้าขยายตัว 14.6% ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัว 0.3% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 4 อยู่ที่ 0.9% ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 4 เกินดุลที่ 12.7 พันล้านดอลลาร์ และดุลการค้าเกินดุล 6.5 พันล้านดอลลาร์

               อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 การบริหารจัดการเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึง 4 เรื่อง คือ การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตร ที่จะต้องดูแลการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารรถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยการเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายลงทุนในช่วงที่เหลือของปี และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่ต่ำกว่า 77% การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การจัดทำแผนและขับเคลื่อนการลงทุน การพัฒนาเมือง

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

สศค.คาดศก.ไทยปี 61 โตเกิน 4.2% ลงทุน EEC ช่วยหนุน พร้อมชี้ศก.ไทยโตเต็มศักยภาพแล้ว

            นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เชื่อว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพแล้ว โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะเติบโตได้สูงกว่า 4.2% เนื่องจากการการลงทุนที่จะเกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีส่วนในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ดีกว่าประมาณการที่ สศค.ตั้งไว้

               ในขณะที่คาดว่าทั้งปี 60 เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ราว 4% ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะมีการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (19 ก.พ.)

               นายศรพล กล่าวว่า สาเหตุที่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพแล้วมาจากเครื่องชี้วัดในหลายตัว เช่น มูลค่าการส่งออก ที่ในปี 60 ขยายตัว 9.9% ถือว่าสูงสุดในรอบ 6 ปี ถือว่ามีการฟื้นตัวที่ชัดเจนมาก, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในปี 60 อยู่ที่ 35.4 ล้านคน ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นการขยายตัว 8.8% ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 12.2% เห็นได้ว่าเป็นการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ

               ขณะที่เริ่มเห็นการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการส่งออกและการลงทุนจะมีความสอดคล้องกัน โดยเมื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น การลงทุนก็จะเพิ่มขึ้นตาม ดูได้จากยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน, การนำเข้าวัตถุดิบตลอดจนเครื่องมือเครื่องจักรจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้ในการผลิตสินค้า และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและไม่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน

               อย่างไรก็ดี แม้จะเห็นเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยหลายตัวที่มีทิศทางดีขึ้น แต่กระทรวงการคลังก็ไม่ได้ละเลยการดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม โดยยังดำเนินนโยบายการคลังที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

               "เศรษฐกิจเราฟื้นแล้ว เราโตเต็มศักยภาพแล้ว และตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าในปี 61 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะดีขึ้นกว่าเดิม สศค.คาดว่าปี 61 จีดีพีจะโตได้ดีกว่าปี 60 ซึ่งคาดว่าปีนี้จะโตได้ 4.2% ที่ได้มีการคิดรวมโครงสร้างการลงทุนใน EEC เพียงบางส่วน แต่ยังไม่ได้ใส่สิ่งที่ EEC จะนำมาซึ่งการเพิ่มศักยภาพในเชิง supply side อันจะช่วยทำให้จีดีพีขยายตัวได้สูงกว่า 4.2% ได้อย่างแน่นอน" นายศรพล ระบุ

                              อินโฟเควสท์

ม.หอการค้า ปรับคาดการณ์ GDP ปี 61 โต 4.4% จากเดิมคาด 4.2%

            นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทย (GDP)ในปี 61 มีโอกาสที่จะขยายตัวที่ระดับประมาณ 4.4% จากก่อนหน้าคาดขยายตัว 4.2% ขณะที่การส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 61 มีโอกาสที่จะเติบโตที่ระดับประมาณ 6.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 61 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3%

               สำหรับ ปัจจัยบวกที่มีผลต่อการประมาณการ GDP ในปี 61 ประกอบด้วย การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น คาดว่า ส่งออกปีนี้ขยายตัวที่ 6% มูลค่าส่งออกอยู่ที่ประมาณ 100,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน 37 ล้านคน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 80,000 ล้านบาท, การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ มูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท และจากปัจจัยบัตรสวัสดิการคนจน เฟส 2 มูลค่าประมาณ 36,000 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินโดยรวมประมาณ 2.76-3 แสนล้านบาท

               นอกจากนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% จากปี 60 ที่ขยายตัว 3.7% ส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

               นายธนวรรธน์ คาดว่า ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจากการประชุมของหอการค้าไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการและหอการค้าต่างจังหวัด ส่งสัญญาณว่า ราคาพืชผลเกษตรในต่างจังหวัดราคาปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือก ข้าวโพด มันสำปะหลังและยางพารา โดยมีปัจจัยเสริมจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จาก 53 เหรียญ สรอ./บาร์เรล เป็น 60 เหรียญ สรอ./บาร์เรล

               อีกทั้ง ยังมีปัจจัยจากการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นชาติมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลก ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุน 2-3 แสนล้านบาท

               รวมถึงปัจจัยด้านการเมือง ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังมั่นใจว่า ในปี 61 การเมืองยังคงมีเสถียรภาพ และสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในต้นปี 62

               สำหรับ ค่าเงินบาทปี 61 คาดว่าค่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเชื่อว่าทางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยเร็วขึ้น และอยู่ในกรอบ 2.25% และเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี เพื่อหวังผลให้เศรษฐกิจขยายตัวและไม่ให้เงินบาทแข็งเกินไป

               นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงการประมาณการภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคในปี 61 ซึ่งภาคตะวันออกจะขยายตัวได้ดีที่สุด อยู่ที่ 5.9% เนื่องจากมีการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และการท่องเที่ยวมีความโดดเด่นมากขึ้นในปีนี้

               สำหรับ ภาวะเศรษฐกิจในปี 60 ยังคงประมาณการณ์ที่ 3.9% เป็นผลจากการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐติดลบ ทำให้เศรษฐกิจไม่เคลื่อนตัวและภาคเอกชนยังระมัดระวังไม่เพิ่มการลงทุน ประกอบกับมาตราการช็อปช่วยชาติที่กระตุ้นกำลังซื้อปลายปี 60 ไม่ได้ส่งผลให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น

               อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!