หมวดหมู่: ธปท.

BOAสรธดา พนมวน ณ อยธยา


ธปท.เผยอยู่ระหว่างหารือ ก.ล.ต.ดูแล ICO เงินดิจิทัล พร้อมสั่งลงโทษสถาบันการเงินเก็งกำไรค่าเงินบาท

   ธปท.เผยอยู่ระหว่างหารือ ก.ล.ต.ดูแล ICO เงินดิจิทัล ยันยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เตือนนลท.ต้องระวังความเสี่ยง ชี้พบสถาบันการเงินบางแห่ง มีพฤติกรรมเก็งกำไรเงินบาท พร้อมลงโทษเรียบร้อยแล้ว  ด้าน 6 แบงก์ขอทำ e-Marketplace Platfrom บริการซื้อขายชำระเงินครบวงจร ด้านธปท.ระบุต้องรายงานปริมาณธุรกรรม การซื้อขาย ปัญหาทุกไตรมาส หากพบการทำผิด กระทบต่อความเสี่ยงและความมั่นคง ระงับการดำเนินการทันที  

       นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า  ขณะนี้กำลังหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เพื่อควบคุมดูแล ICO และสกุลเงินดิจิทัล ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งในปัจจุบันยังขอย้ำว่า สกุลเงินดังกล่าวนั้น ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งหากร้านค้า หรือ ผู้ประกอบการรายได้ ดำเนินการซื้อขายรูปแบบดังกล่าว แม้จะไม่มีความผิด แต่หากมีปัญหาการทำธุรกรรม จะไม่สามารถดำเนินการเอาผิดกับใครได้ หรือจะร้องเรียนไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลโดยตรง

       ส่วนกรณีที่เปิดให้เทรด หรือ ทำการซื้อขายในรูปแบบของ ICO นั้น เชื่อว่า ก.ล.ต. ได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่นักลงทุนเองจะต้องประเมินความเสี่ยงที่จะรับได้ เนื่องจากการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวยังมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการลงทุน หรือการดำเนินการจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 

      “ขณะนี้เราก็ให้ข้อมูลกับทางก.ล.ต. และร่วมกันพิจารณากับหลายๆหน่วยงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และระมัดระวัง คำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่นักลงทุนก็ต้องระวัง ดูความเสี่ยงที่รับได้”นางสาวสิริธิดา กล่าว

       ด้านนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการยกระดับความเข้มงวดในการติดตามการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของผู้ร่วมตลาดในช่วงที่ผ่านมา ธปท. พบว่า มีสถาบันการเงินในประเทศไทยบางแห่งเอื้อให้เกิดธุรกรรมที่เข้าข่ายขัดกับมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ธปท. จึงได้ดำเนินการตักเตือนและลงโทษสถาบันการเงินที่มีพฤติกรรมดังกล่าว

      ทั้งนี้ ธปท. ขอกำชับว่า ธปท. มีนโยบายและมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทและขอให้สถาบันการเงินงดทำธุรกรรมที่อาจขัดกับเจตนารมณ์ของมาตรการป้องปรามการเก็งกำไร

      ธปท. จะยังคงติดตามและตรวจสอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมถึงพร้อมทบทวนมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อไป

     ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเกณฑ์การลงโทษสถาบันการเงินที่กระทำความผิดมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินนั้น  จะพิจารณาเป็นรายกรณี โดยพิจารณาถึงเหตุผล ความรุนแรงของการกระทำผิด และเจตนาในการละเมิดมาตรการป้องปรามเป็นสำคัญ ซึ่งจะมีระดับความผิดที่แตกต่างกัน เช่น การว่ากล่าวตักเตือน การเปรียบเทียบปรับตามพ.ร.บ. การงดทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินและธปท. ซึ่ง การลงโทษครั้งนี้ธนาคารที่เกี่ยวข้องรับทราบโดยตรงไปแล้ว เชื่อว่าจะมีการกำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัดต่อไปค่ะ

      นางสาวสิริธิดา เปิดเผยเพิ่มเติมถึง ความคืบหน้าที่ธปท.ออกประกาศอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Marketplace Platform หรือ การให้บริการช่องทางการซื้อขายสินค้าหรือบริการ และชำระเงินออนไลน์แบบครบวงจร รวมถึงให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อพัฒนาธุรกิจและสร้างช่องทางเครือข่ายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย บนแพลตฟอร์มของธนาคารพาณิชย์ หรือ บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า มีสถาบันการเงินยื่นความจำนงขอดำเนินการรูปแบบดังกล่าวแล้ว 6 ราย 

     “สถาบันการเงินหรือกลุ่มธุรกิจต้องการดำเนินการ เพียงแค่แจ้งให้ธปท.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนเริ่มเปิดให้บริการ และรายงานปริมาณมูลค่าการให้บริการแก่ลูกค้า และปัญหาข้อร้องเรียน ที่เกิดจากการให้บริการ พร้อมแนวทางการแก้ไขเพื่อติดตามการให้บริการ ทุกไตรมาส โดยให้นำส่งรายงานภายใน 15 วันนับจากสิ้นไตรมาสแล้ว ซึ่งหากพบว่า หากสถาบันการเงินดำเนินการแล้ว ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย ความมั่นคง หรือ ชื่อเสียงของธนาคารพาณิชย์ หรือ บริษัทในกลุ่มธุรกิจ หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ ธปท.อาจชะลอ หรือระงับการอนุญาตดังกล่าวเป็นการทั่วไป หรือ รายกรณีได้ตามความจำเป็น”นางสาวสิริธิดา กล่าว 

        สำหรับ บริการที่ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถให้บริการได้ ประกอบด้วย 1.Digital Platform หรือ การให้บริการช่องทาง หรือ พื้นที่ผ่านเว็บไซต์แอปพลิเคชั่น หรือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทในกลุ่ม เพื่อเป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ชำระเงินออนไชน์แบบครบวงจร รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร การอบรมเพื่อพัฒนาธุรกิจแบบออนไลน์ และการสร้างเครือข่าย 2.Support Seller การทำหน้าที่ให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาให้ลูกค้าผู้ขายสินค้าหรือบริการ นำสินค้าหรือบริการ ขึ้นเสนอบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ 3.Marketing and Promotion การทำการตลาด และจัดโปรโมชั่น ร่วมกับผู้ขายสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารทราบและเข้ามาใช้บริการบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์

      4.Payment การให้บริการระบการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการแบบออนไลน์ 5.Customer Services ช่องทางการสื่อสาร ชี้แจงข้อมูล และรับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้า เช่นกรณีลูกค้าไม่ได้รับสินค้าตามระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น 6.Business Analysis การนำข้อมูลธุรกรรมบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์มาประมวลผลและวิเคราะห์ เพื่อการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ หรือ บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน โดยต้องคำนึงถึงการรักษาข้อมูลความลับของลูกค้าเป็นสำคัญ 

      ทั้งนี้ ห้ามธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทในกลุ่ม ทำการผลิตสินค้าหรือให้บริการ รวมถึงการซื้อและจัดเก็บสินค้าหรือบริการไว้เพื่อการค้า ยกเว้นสินค้าหรือบริการที่มีวัตถุประวงค์เพื่อสนับสนุนโครงการรับผิดชอบต่อสังคม

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!