หมวดหมู่: สภาหอการค้าไทย

1aaaaBปรีดี ดาวฉาย


กกร.หั่นเป้าศก.ไทยปีนี้ ติดลบ 5-8% กังวลโควิด-เทรดวอร์-บาทแข็งกดดัน

  กกร.หั่นเป้าศก.ไทยปีนี้ ติด -5-8% จากเดิมคาด -3-5% ส่วนไตรมาส2 คาดทรุดมากกว่า 10% ด้านส่งออก - เงินเฟ้อปรับลดเป้าถ้วนหน้า หลังโควิดยังระบาดหนักหลายประเทศ - สงครามการค้าปะทุ ขณะที่ห่วงบาทแข็งเร็วกว่าภูมิภาค

 นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า กกร.ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ เป็นติดลบ 5% ถึงติดลบ 8% จากเดิมคาดติดลบ 3% ถึงติดลบ 5% ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าจะติดลบมากกว่า 10%

 ขณะที่การส่งออกปรับลดกรอบประมาณการมาอยู่ที่ติดลบ 7% ถึงติดลบ 10% จากเดิมคาดติดลบ 5% ถึงติดลบ 10% รวมถึงปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาอยู่ที่ติดลบ1% ถึงติดลบ1.5% จากเดิมคาดอยู่ที่ 0-1.5%

 "สาเหตุที่กกร. ปรับลดประมาณการเนื่องจากมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง แนวโน้มเศรษฐกิจยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบางประเทศที่ยังรุนแรง ซึ่งจะทำให้การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของไทยคงเกิดขึ้นอย่างจำกัด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และประเทศอื่นๆ รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่า อาจกดดันการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ"นายปรีดี กล่าว

  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในเดือนพ.ค.-มิ.ย. ที่ผ่านมา ภาครัฐจะทยอยคลายล็อกให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้ แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะหดตัว จากกำลังซื้อที่อ่อนแอจากครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ

  ขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่ยังไม่ยุติ ด้านมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากกลไกภาครัฐผ่านการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท จะเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี และทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด

   “การจะให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติมันต้องใช้เวลา และจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง เพราะวิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แตกต่างจากวิกฤติในปี 40 ที่เกิดเฉพาะในภูมิภาคนี้ แต่เมื่อเราส่งออกได้ ผลิตได้มันก็เริ่มฟื้นตัว แต่ครั้งนี้ แม้เราจะดี แต่ภายนอกยังรุนแรงก็เป็นเรื่องยาก”นายปรีดี กล่าว

   ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาท กกร.เป็นห่วงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าสกุลอื่นในภูมิภาคในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป จากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอกว่าคาด และการดำเนินนโยบายอัดฉีด QE ของสหรัฐ

   นอกจากนี้ กกร.ยังได้ร่วมหารือและรับมอบนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเอสเอ็มอีอย่างทั่วถึง โดยมี 1.กองทุน 50,000 ล้านบาท โดยสสว.เป็นผู้จัดตั้งกองทุน 2.การเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งทั้งกลุ่มจะเตรียมนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 7 ก.ค. นี้ หากผ่านความเห็นชอบจากครม.จะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนส.ค. นี้

   นายปรีดี กล่าวว่า สำหรับความเป็นห่วงการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ยืนยันว่า ปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนในระดับสูง และเกินกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 11% และสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดที่ 10.5%

   ทั้งนี้ ณ เดือน เม.ย. ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.19 ล้านล้านบาท และ 2.62 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.84% และ 18.90% ต่อสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งสามารถรองรับการดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง

   ส่วนความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกค้าสถาบันการเงินล่าสุด โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซอฟต์โลน ของธปท. อนุมัติสินเชื่อแล้ว วงเงิน 90,499 ล้านบาท ช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 56,312 ราย ในจำนวนนี้กว่า 76.4% หรือ 43,030 ราย เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาท

   ขณะที่เอสเอ็มอีรายกลางมีวงเงินสินเชื่อในช่วง 20-100 ล้านบาท และเอสเอ็มอีขนาดใหญ่มีวงเงินสินเชื่อในช่วง 100-500 ล้านบาท ได้รับซอฟต์โลนจากธปท.แล้ว 9,825 ราย และ 3,457 รายตามลำดับ

   ด้านการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยนั้น สถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าและช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยไปแล้ว 16.37 ล้านราย คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.84 ล้านล้านบาท จำนวนดังกล่าวเป็นลูกหนี้รายย่อย 15.22 ล้านราย ขณะที่สัดส่วนลูกหนี้เอสเอ็มอี 1.14 ล้านราย และรายใหญ่ 5,028 ราย

   "แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ยอมรับว่าสูงขึ้นจริง แต่ทั้งนี้ คงต้องรอติดตามตัวเลขอีกครั้งหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ และการพักชำระหนี้ในช่วงเดือนต.ค. นี้"นายปรีดี กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!