หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

TRIS7 12


ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘บ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป’ ที่ ‘A’ แนวโน้ม ‘Negative’

      ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘A’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ โดยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ’ลบ’ สะท้อนถึงความไม่แน่นอนและความรุนแรงของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ต่อผลการดำเนินงานของบริษัทและโอกาสในการเลื่อนการเข้าฉายของภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงของผู้สร้างภาพยนตร์รายใหญ่ออกไป

     อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีทั่วประเทศ และสถานะที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัทในธุรกิจสื่อโฆษณา อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมทั้งความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ และการแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโรคโควิด 19 ในปี 2563 แต่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2564

       ทริสเรทติ้ง คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวในช่วง 2 ปีข้างหน้าหลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 รายได้ของบริษัทลดลง 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากการแพร่ระบาด บริษัทต้องปิดโรงภาพยตร์ทั้งหมดเป็นเวลา 2 เดือนและต้องลดจำนวนที่นั่งลงเมื่อกลับมาเปิดให้บริการใหม่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19  นอกจากนี้ ผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดยังได้เลื่อนการเข้าฉายของภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงจากปี 2563 มาเป็นปี 2564 ในขณะที่จำนวนผู้เข้าชมก็ฟื้นตัวช้าเนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อความเสี่ยงในการติดโรคโควิด 19 ภายในโรงภาพยนตร์

       หลังจากที่สามารถควบคุมไวรัสในประเทศได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว จำนวนผู้เข้าชมในโรงภาพยนตร์ก็ฟื้นตัวอย่างมากในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ตัวอย่างคือภาพยนตร์ไทย 2 เรื่องสามารถสร้างรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าในปี 2564 จะมีภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงเข้าฉายมากขึ้นเนื่องจากมีภาพยนตร์ที่เลื่อนมาจากการฉายในปี 2563 และภาพยนตร์ที่มีกำหนดเดิมที่จะฉายในปี 2564 โดยผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดเริ่มนำภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงเข้าฉายอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2563 นอกจากนี้ ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยก็ยังมีแผนจะนำภาพยนตร์ไทยเข้าฉายมากขึ้นในปี 2564 อีกด้วย ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 75% ในปี 2564 และ 30% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับที่ลดลงประมาณ 60% ในปี 2563 ทริสเรทติ้งยังเชื่ออีกด้วยว่าภาครัฐจะสามารถควบคุมการระบาดรอบใหม่ที่เริ่มในช่วงปลายเดือนธันวาคมได้และจะไม่ใช้มาตรการปิดเมืองทั่วประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อเนื่องที่จะเกิดกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

       แม้ว่า โครงสร้างต้นทุนหลักของบริษัทจะเป็นต้นทุนผันแปร เช่น ส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ ต้นทุนอาหารและเครื่องดื่ม และค่าเช่าบางส่วน แต่บริษัทก็ได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างในการลดต้นทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด 19 ในการนี้ บริษัทมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข็มงวดโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร และได้ต่อรองลดค่าเช่าคงที่จากผู้ให้เช่าบางราย ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 30% ในปี 2564 และปี 2565 เมื่อเทียบกับระดับประมาณ 21% ในปี 2563

ผลการดำเนินงานขึ้นอยู่กับภาพยนตร์ที่ออกฉายทั้งในแง่ของจำนวนและความนิยม

          รายได้จากผู้ชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่ออกฉาย รวมถึงคุณภาพและความนิยมของภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ต่างประเทศ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากภาพยนตร์ต่างประเทศมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของรายได้จากการฉายภาพยนตร์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบของโรควิด 19 ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดเลื่อนการฉายภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงออกไปจากปี 2563 เป็นปี 2564 ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากภาพยนตร์ต่างประเทศคาดว่าจะลดลงเป็นประมาณ 60% ในปี 2563

       ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า ในปี 2564 จะมีภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงเข้าฉายมากขึ้นเนื่องจากมีภาพยนตร์ที่เลื่อนจากการฉายในปี 2563 และภาพยนตร์ที่มีกำหนดเดิมที่จะฉายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม กำหนดการฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูดอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลก รวมถึงความพร้อมของวัคซีน และความสำเร็จในการออกฉายภาพยนตร์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด

        ผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่บางรายได้กำหนดให้มีการฉายภาพยนตร์ในโรงพร้อมกับช่องทาง Premium Video On-demand นอกจากนี้ ผู้ผลิตเหล่านี้ยังมีแผนจะลดช่วงห่างของระยะเวลาระหว่างการฉายภาพยนตร์ในโรงกับการเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ เช่น Premium Video On-demand หรือการฉายในระบบบอกรับสมาชิก ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า ระยะเวลาที่อาจสั้นลงนั้นจะส่งผลกระทบต่อบริษัทน้อยมากเนื่องจากการฉายภาพยนตร์ผ่านช่องทาง Premium Video On-demand ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้ชมชาวไทย ทริสเรทติ้งยังคงเชื่อว่าโรงภาพยนตร์ยังคงเป็นช่องทางที่ดีที่สุดที่ผู้ผลิตภาพยนตร์จะสร้างรายได้เมื่อพิจารณาถึงการลงทุนจำนวนมากที่ใช้ในการผลิตภาพยนตร์

        เพื่อลดการพึ่งพิงภาพยนตร์ต่างประเทศและเพิ่มรายได้ บริษัทมีแผนจะผลิตภาพยนตร์ไทยเพิ่มมากขึ้นจากประมาณ 10 เรื่องต่อปีเป็น 20 เรื่องในปี 2564 โดยกลยุทธ์ของบริษัทคือการมีความร่วมมือกับผู้ร่วมทุนหลายรายในการผลิตและฉายภาพยนตร์ไทย ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีจำนวนจอภาพยนตร์มากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดและผู้ชมที่อยู่นอกเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก็ชื่นชอบภาพยนตร์ไทยมากกว่า

       โดยจำนวนภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายมากขึ้นจะช่วยให้บริษัทมีรายได้จากโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นและจะลดการพึ่งพิงภาพยนตร์ฮอลลีวูดลง นอกจากนี้ บริษัทยังนำภาพยนตร์ไทยเข้าฉายแทนในช่วงที่มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ลงทุนสูงเข้าฉายน้อยได้อีกด้วย ในการนี้ บริษัทคาดว่ารายได้จากภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศจะมีเท่าๆ กันในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยที่บริษัทผลิตเองนั้นก็ยังต้องรอการพิสูจน์ด้วยเช่นกัน

รายได้จากธุรกิจโฆษณาลดลง แต่คาดว่าจะฟื้นตัว

         ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 รายได้จากธุรกิจโฆษณาของบริษัทลดลง 65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากลูกค้าตัดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดและจำนวนผู้เข้าชมภาพยนตร์ลดลงอย่างมาก อย่างไร
ก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโฆษณาของบริษัทจะฟื้นตัวในปี 2564 และปี 2565 ตามจำนวนภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงที่จะเข้าฉายมากขึ้นและการฟื้นตัวของธุรกิจโฆษณาหลังจากที่การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ ทริสเรทติ้ง คาดว่า รายได้จากธุรกิจโฆษณาจะอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2563 โดยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.0-1.2 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2565

       บริษัทเป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักโฆษณาเพราะบริษัทมีโรงภาพยนตร์จำนวนมากกระจายไปทั่วประเทศและมีปริมาณลูกค้ามาก บริษัทสามารถเสนอรูปแบบการโฆษณาได้หลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาในโรงภาพยนตร์ บนจอโฆษณาติดผนัง และบนจอโทรทัศน์ที่ติดตั้งภายในและรอบบริเวณโรงภาพยนตร์ โดยผู้โฆษณายังสามารถใช้โรงภาพยนตร์ของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมทางการตลาดได้อีกด้วย

         ธุรกิจโฆษณายังคงสร้างกระแสเงินสดอย่างมีนัยสำคัญให้แก่บริษัท จากการที่ธุรกิจสื่อและโฆษณามีค่าใช้จ่ายต่ำ บริษัทจึงได้รับกระแสเงินสดจากธุรกิจดังกล่าวอย่างมาก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจโฆษณาคิดเป็นประมาณ 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายทั้งหมดของบริษัท

เป็นผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย

        บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 70% ของรายได้จากการฉายภาพยนตร์ในช่วงสัปดาห์แรก ทั้งนี้ การมีสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดช่วยให้บริษัทมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ และผู้จัดหาสินค้าต่าง ๆ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำดังกล่าวได้เนื่องจากบริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนโรงภาพยนตร์ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ให้เป็น 1,200 จอภายในปี 2568 เมื่อเทียบกับจำนวน 817 จอ ณ เดือนกันยายน 2563 ในการนี้ บริษัทจะเพิ่มจำนวนจอใหม่ในโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่

       ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ของบริษัทตั้งอยู่ใน 60 จังหวัดทั่วประเทศไทย รวมทั้งในประเทศกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยโรงภาพยนตร์เหล่านี้มักตั้งอยู่ในทำเลที่ดีในเขตเมืองที่มีจำนวนประชากรหนาแน่น เช่น สถานที่ที่ใกล้กับห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เป็นต้น

เผชิญกับการแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่นๆ

        ธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นอย่างมากของความบันเทิงผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกที่มากขึ้นให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น บริษัทจึงได้มีการปรับปรุงโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องทั้งจอภาพยนตร์ระบบดิจิทัลและระบบเสียงที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า

        นอกจากนี้ บริษัทยังนำเสนอนวัตกรรมโรงภาพยนตร์รูปแบบใหม่ที่จะช่วยให้บริษัทคงความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างความแปลกใหม่ให้แตกต่างไปจากการชมภาพยนตร์ภายในบ้าน และพัฒนาคุณภาพของประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ในโรงให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากิจกรรมนันทนาการในรูปแบบอื่นๆ ยังไม่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น พฤติกรรมของผู้ที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรงจึงคาดว่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนักแม้ว่ากิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ จะมีความแพร่หลายมากขึ้นก็ตาม

อัตราส่วนหนี้สินอ่อนตัวลง แต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น 

         ทริสเรทติ้ง คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอ่อนตัวลงในปี 2563 แต่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 และปี 2565 ทั้งนี้ ในปี 2563 คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 13.5 เท่าเนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ส่งผลทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงอย่างมากในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 3-4 เท่าตามการคาดการณ์ในการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัท ส่วนในช่วง 3 ปีข้างหน้านั้น เงินลงทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 300 ล้านบาทถึง 500 ล้านบาทต่อปี

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

       ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดในมือจำนวน 1.45 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกประมาณ 3.6 พันล้านบาท ส่วนในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้น เงินทุนจากการดำเนินงานก่อนการปรับปรุงสัญญาเช่าดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาท ในขณะเดียวกัน บริษัทก็จะมีภาระในการชำระหนี้จำนวน 2.4 พันล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ระยะสั้นจำนวน 1.7 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังจะต้องใช้งบลงทุนตามแผนอีกจำนวนประมาณ 350 ล้านบาทและมีแผนการใช้เงินในการผลิตภาพยนตร์อีกประมาณ 150 ล้านบาทด้วย

         บริษัทมีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัทหลายแห่ง ได้แก่ บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตล์ (MJLF) ณ เดือนกันยายน 2563 มูลค่าทางการตลาดของการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้น 5.2 พันล้านบาท ซึ่งมูลค่าทางการตลาดที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนเหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมให้แก่บริษัทในกรณีที่บริษัทมีความต้องการเงินทุน

       ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า บริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ เดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 1.32 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 1.5 เท่าตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้ง มีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 ดังต่อไปนี้

  • รายได้จะลดลงมาอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาทและจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 พันล้านบาทในปี 2564 และ 8.8 พันล้านบาทในปี 2565
  • อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ที่ปรับปรุงแล้วจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 21% ในปี 2563 แต่จะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 30% ในปี 2564 และปี 2565
  • งบประมาณการลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี
  • อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 เท่าในปี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 3-4 เท่าในปี 2564 จนถึงปี 2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

       แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนถึงความไม่แน่นอนและความรุนแรงของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่อผลการดำเนินงานของบริษัทและโอกาสในการเลื่อนการเข้าฉายของภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

       อันดับเครดิตอาจปรับลดหากทริสเรทติ้งเห็นว่าการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 2564 ไม่เป็นไปตามคาด หรือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสหรือการเปลี่ยนโครงสร้างของระยะเวลาการฉายภาพยนตร์กับช่องทางอื่นๆ ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะกระทบในทางลบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

      ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจเปลี่ยนเป็น ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ หากบริษัทสามารถกลับมามีผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ได้ว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะลดต่ำลงกว่าระดับ 3.5 เท่าได้โดยเร็ว

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป,  26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

 

บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) (MAJOR)

อันดับเครดิตองค์กร:

A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MAJOR21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564

A

MAJOR229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565

A

แนวโน้มอันดับเครดิต:

Negative

 

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com 

ติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

       © บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

 

 

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!